?กระเพาะฉี่ต้นคริสต์มาส ?

สุขภาพคุยสบาย สไตล์หมอยูโร
?กระเพาะฉี่ต้นคริสต์มาส ?

        กระเพาะฉี่ของคนเรานั้นมีหน้าที่ 2 อย่างด้วยกันคือ เก็บฉี่และขับฉี่ คนเราเริ่มฉี่ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ และกลืนฉี่กลับเข้าไปอีกครั้ง ทำอยู่แบบนี้เรื่อยๆ จนคลอดออกมาจากท้องแม่ แรกคลอดกระเพาะฉี่จะมีขนาด 20-30 ซีซี และเพิ่มขนาดขึ้นปีละ 30 ซีซี จนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่กระเพาะฉี่จะมีความจุ 400-500 ซีซี เด็กแรกเกิดจะฉี่บ่อยมากคือเกือบทุกชั่วโมง ความถี่ของการฉี่จะค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 6-8 ครั้งต่อวันเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ตามปกติแล้วเราจะควบคุมการฉี่ในตอนกลางวันได้เมื่ออายุ 2 ขวบและเลิกฉี่รดที่นอนเมื่ออายุ 5 ขวบ

        เด็กบางคนไม่ได้โชคดีอย่างที่เล่ามา น้องๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับความผิดปกติของสมองและหรือไขสันหลัง ซึ่งทำให้ระบบประสาทที่ดูแลการทำงานของกระเพาะฉี่ผิดปกติตามไปด้วย ซึ่งเป็นที่มาของภาวะกระเพาะฉี่พิการจากระบบประสาท (neurogenic bladder) โรคที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยคือ ความผิดปกติของไขสันหลัง (spinal dysraphism) ภาวะรูทวารและลำไส้ตรงผิดรูป (anorectal malformation) ภาวะกระดูกใต้กระเบนเหน็บไม่เจริญ (sacral agenesis) ภาวะสมองบวมน้ำ (hydrocephalus) และภาวะสมองพิการ (cerebral palsy) เป็นต้น ฟังดูแต่ละชื่อแล้วไม่น่าจะเป็นโรคที่หายขาดได้เลย น่าสงสารเด็กมากถึงมากที่สุด

        น้องๆ ที่มีกระเพาะฉี่พิการมักมีอาการกลั้นฉี่ไม่อยู่ ฉี่ไหลซึมตลอด ฉี่เองไม่ได้ มีฉี่ติดเชื้อบ่อยๆ และมักจะมีท้องผูกหรือมีอึไหลซึมร่วมด้วยช่วยซ้ำเติมเข้าไปอีก น้องๆ ที่โชคร้ายมากเป็นหนักก็อาจมีอาการทางสมองและการเดินผิดปกติร่วมด้วย เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาน้องมารพ.ให้หมอยูโรตรวจร่างกาย ก็อาจจะพบคลำท้องน้อยได้กระเพาะฉี่ บางทีก็คลำพบไตบวมโต 2 ข้างก็มี ตรงบริเวณจู๋หรือจิ๋ม หรือรอบรูทวาร มักมีผิวหนังเปียกชื้น แดงอักเสบ บางรายเป็นเชื้อราดูแล้วยิ่งน่าเห็นใจ ขา 2 ข้างมักไม่มีแรงและไม่ค่อยมีความรู้สึก คุณพ่อคุณแม่ต่างมาตรวจกับหมอยูโรด้วยความหวังว่าจะหาย แต่หมอรู้สึกเจ็บลึกๆ ที่สุดท้ายต้องบอกว่าให้ทำใจ และสู้ไปด้วยกัน

        คุณหมอยูโรจะส่งตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดหาค่าไต ส่งทำอัลตราซาวด์ระบบฉี่ และส่งตรวจฉีดสีเข้าในกระเพาะฉี่ เป็นลำดับไป ซึ่งอาจจะพบว่ากระเพาะฉี่น้องมีรูปร่างเหมือนต้นคริสต์มาส!!! (Christmas tree appearance) แทนที่จะมีรูปร่างเหมือนไข่ (Oval shape) ?เหมือนเด็กคนอื่นๆ เค้า ทั้งนี้ก็เกิดจากกระเพาะฉี่มีผนังหนาขึ้น กล้ามเนื้อผิดปกติและมีถุงผนังเล็กๆ เป็นจำนวนมากนั่นเอง ซึ่งการวินิจฉัยที่แน่นอนคือการตรวจการทำงานของกระเพาะฉี่ด้วยเครื่องมือพิเศษที่เราเรียกว่าการตรวจปัสสาวะพลศาสตร์ (Urodynamic study) ครับผม

        เป้าหมายสำคัญในการดูแลเด็กๆ ที่มีกระเพาะฉี่พิการคือ การรักษาการทำงานของไตไว้ให้ดีที่สุด เพราะกระเพาะฉี่พิการที่มีความดันสูงจะทำให้ไตเสียได้ เป้าหมายถัดมาคือช่วยทำให้น้องกลั้นฉี่ได้ไม่เล็ดราด ลดการใช้ผ้าอ้อมลงให้เหลือน้อยที่สุด และเอาฉี่ออกได้หมดด้วยการสวนฉี่เป็นเวลาแบบสะอาด (clean intermittent catheterization) การป้องกันฉี่ติดเชื้อ รวมทั้งการดูแลเรื่องท้องผูกหรือกลั้นอึไม่ได้ให้น้องด้วย เป้าหมายอื่นๆ ก็ เช่นให้น้องสามารถไปโรงเรียนได้ เรียนหนังสือได้ตามปกติ เข้ากับเพื่อนๆ ได้มีสุขภาพจิตที่ดี หมอยูโรจะดูแลน้องไปพร้อมกับคุณหมออีกหลายคนเช่น หมอไตเด็ก หมอผ่าตัดระบบประสาท หมอผ่าตัดกระดูกและข้อ และอาจรวมถึงคุณหมอจิตเวชเด็กและวัยรุ่นด้วยครับ
การรักษากระเพาะฉี่พิการแบ่งเป็น 4 แบบหลักๆ คือ

        การรักษากระเพาะฉี่บีบตัวไวเกิน ความดันสูง และมีความจุเล็กจะได้รับการรักษาด้วยยากิน antimuscarinic หากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาใส่ยา antimuscarinic ในกระเพาะฉี่ หากไม่ได้ผลอีกก็ต้องพิจารณาฉีดยา botulinum toxin A ที่ผนังกระเพาะฉี่ สุดท้ายบางรายต้องผ่าตัดใหญ่เอาลำไส้มาเพิ่มขนาดกระเพาะฉี่ (bladder augmentation)

        การรักษากระเพาะฉี่บีบตัวน้อยด้วยการสวนปัสสาวะเป็นเวลาแบบสะอาด ช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้น้อง จนน้องโตขึ้นจึงทำด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เด็กไทยจะทำได้เองเมื่ออายุ 7-10 ขวบขึ้นไป

        การรักษาหูรดท่อฉี่หดตัวมากเกิน ด้วยการสวนปัสสาวะเป็นเวลาแบบสะอาด บางรายอาจได้ผลจากยากิน alpha1 blocker หรือการฉีด botulinum toxin A ที่หูรูด

        การรักษาหูรูดท่อฉี่หดตัวน้อย ด้วยการผ่าตัดใส่ตาข่าย (sling) การผ่าตัดซ่อมคอกระเพาะปัสสาวะ (bladder neck reconstruction) เป็นต้น

        ทั้งนี้คุณหมอจะทำการรักษาภาวะท้องผูกและหรือกลั้นอึไม่ได้ เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารที่ทานให้ย่อยง่ายและมีกากใย มีการให้ยาระบายทาน หรือการกระตุ้นลำไส้ตรงด้วยด้วยนิ้ว การสวนล้างผ่านทางรูก้น หากเป็นมากอาจลงเอยด้วยการผ่าตัดเอาไส้ติ่งมาทำทางสวนอึจากบนลงล่าง
กล่าวโดยสรุปแล้วภาวะกระเพาะฉี่พิการในเด็กนั้นมีความพิเศษในตัวเองดังนี้ครับ

        Chronic disease เป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด รักษากันยาว
        Risk stratification ต้องแยกว่าผู้ป่วยใดเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำต่อการเกิดไตเสีย จะได้ระวัง
        Multidisciplinary approach อาศัยแพทย์หลายสาขาช่วย
        Promote kidney ต้องรักษาไตให้ดี ไม่ให้ไตวาย
        Happy doctors แพทย์ที่ดูแลควรทำใจร่มๆ และมีความสุข
        Empower patients/parents ต้องให้กำลังใจเด็กและผู้ดูแล
        Treatment tailor การรักษาให้ปรับตามเด็กความพิเศษของเด็กแต่ละคน ไม่มีสูตรสำเร็จ
        No wonder regimen ไม่มีการรักษาที่วิเศษ ที่หายขาด
        Endless follow up ต้องติดตามผู้ป่วยไปตลอดชีวิต

        สุดท้ายนี้ลุงหมอก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่เจ็บป่วยเป็นกระเพาะฉี่พิการ ให้สู้ต่อไป อย่ายอมแพ้ จงมีความหวังสมดังต้นคริสต์มาสที่อยู่ในตัว และขอชื่นชมคุณพ่อคุณแม่และผู้ดูแลเอาใจใสน้องเป็นอย่างดี หมอขอเป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัย ดูแลรักษาน้องให้ดีที่สุด เพื่อที่น้องจะได้เป็นอนาคตอันสดใสของประเทศชาติต่อไปครับ

TUA ขอขอบคุณบทความสุขภาพดีๆ จากผู้เขียน รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์
รพ.สวนดอก เชียงใหม่ และผู้ตรวจทาน ผศ.นพ.กิตติพงษ์ พินธุโสภณ รพ.ศิริราช กรุงเทพฯ

Stay Connected

Popular Knowledge

เข้าสู่ระบบ


ลงทะเบียน

(เฉพาะสมาชิก TUA เท่านั้น)

กรุณากรอกข้อมูลด้านล่าง

กู้คืนรหัสผ่านของคุณ

กรุณาระบุอีเมลของคุณ