ความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย มีผู้ป่วยจำนวนมากประสบปัญหานี้ ทำให้ส่งปัญหาต่อเนื่องถึงสุขภาพโดยทั่วไป รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จนกระทั่งมีปัญหาที่รุนแรงตามมาเช่นการหกล้ม กระดูกหักเนื่องจากต้องเข้าห้องน้ำบ่อยในเวลาค่ำคืน หรืออดหลับ อดนอนเพราะต้องตื่นตอนกลางคืนบ่อยครั้ง จนกระทบกับการปฏิบัติงานในวันรุ่งขึ้น ได้มีการศึกษาถึงจำนวนผู้ที่ประสบปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะพบว่าประชากรโดยทั่วไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 เคยประสบหรือกำลังประสบกับปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะและปัสสาวะเล็ดราด หรือมีปัญหาปวดปัสสาวะที่รุนแรงเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ กล่าวคือประมาณหนึ่งในสี่ ของประชาชนที่เดียวที่ประสบปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะ แต่มีผู้ป่วยเพียงจำนวนไม่มากนักที่มีความรู้ความเข้าใจ และทราบว่าปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะนี้สามารถแก้ไขได้ อาจจะทำการรักษาจนหายขาดหรือทำให้อาการดีขึ้น จนกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เช่นผู้ที่ไม่ประสบปัญหา
การทำงานของระบบปัสสาวะในภาวะปกติ
ก่อนที่จะได้กล่าวถึงความผิดปกติ เราคงต้องเท้าความถึงภาวะปกติของระบบทางเดินปัสสาวะก่อน ระบบทางเดินปัสสาวะเริ่มต้นตั้งแต่ไต ซึ่งมีลักษณะคล้ายถั่ว วางอยู่บริเวณเอว ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองของเสีย และกลั้นออกมาเป็นปัสสาวะซึ่งประกอบด้วยน้ำ ของเสียต่างๆ เกลือแร่ ของเสียเหล่านี้จะขับผ่านลงมาทางท่อปัสสาวะ ลงมาถึงกระเพาะปัสสาวะ และเก็บกักในกระเพาะปัสสาวะจนกระทั่งเต็ม จึงมีการขับถ่ายออกผ่านทางท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะมีลักษณะเป็นถุงกล้ามเนื้อ มีความจุประมาณ 300-400 ซีซี มีคุณลักษณะเฉพาะที่สามารถขยายขนาดได้ เมื่อมีน้ำปัสสาวะเพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของกระเพาะปัสสาวะนี้จะคงสภาพให้ความดันภายในกระเพาะปัสสาวะต่ำอยู่ตลอดเวลา และในระหว่างที่กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่ในการเก็บกักน้ำปัสสาวะนี้กลไกหูรูดที่อยู่ถัดจากกระเพาะปัสสาวะลงมาจะปิดสนิท ป้องกันไม่ให้น้ำปัสสาวะไหลราดออกมา แต่ในเพศชายและเพศหญิงจะมีความแตกต่างกัน โดยเพศชายจะมีต่อมลูกหมากเป็นส่วนหนึ่งของท่อปัสสาวะด้วยและจะมีส่วนช่วยในการกลั้นปัสสาวะเช่นกัน
รูปที่ 1 แสดงระบบทางเดินปัสสาวะ หญิง (ด้านซ้ายมือ) และชาย (ด้านขวามือ)
รูปที่ 2 แสดงกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะหญิง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าท่อปัสสาวะจะสั้น
รูปที่ 3 แสดงกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะชาย จะเห็นได้ว่ามีต่อมลูกหมากวางอยู่เป็นส่วนต้นของกระเพาะปัสสาวะ
การทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาท โดยระบบประสาทที่เกี่ยวข้องเริ่มตั้งแต่ สมอง สันหลัง ลงมาถึงเส้นประสาทส่วนปลาย และรวมถึงประสาทอัตโนมัติต่างๆ ด้วย
รูปที่ 4 แสดงระบบประสาทควบคุมการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ
คนเราเริ่มมีความรู้สึกปวดปัสสาวะเมื่อมีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะประมาณครึ่งหนึ่งของความจุ แต่เป็นเพียงความรู้สึกหน่วงๆ บริเวณท้องน้อย ไม่ใช่อาการปวดที่ต้องการไปถ่ายปัสสาวะ เราจะมีความรู้สึกต้องการถ่ายปัสสาวะเมื่อมีน้ำปัสสาวะเต็มแล้ว แต่หากเรายังไม่พร้อมที่จะถ่ายปัสสาวะ สมองจะสั่งการลงมากำกับยับยั้งไม่ให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัว รวมถึงหูรูดปิดตัวให้แน่นหนาขึ้น เราจะสามารถกลั้นปัสสาวะต่อได้เพียงแต่มีอาการปวดปัสสาวะมากขึ้น และกระเพาะก็จะยืดขนาดมากขึ้นดังที่กล่าวมาในตอนต้น
หากเรามีความพร้อมที่จะถ่ายปัสสาวะ เมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็ม กระแสประสาทจะถูกส่งขึ้นไปจากกระเพาะปัสสาวะจนถึงสมอง เมื่อมีการแปลความว่าสามารถถ่ายปัสสาวะได้ กระแสประสาทจะส่งกลับลงมาผ่านไขสันหลัง ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ ส่งผลให้มีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะพร้อมกับการคลายตัวของหูรูด? ทำให้มีปัสสาวะไหลออกมา และโดยปกติการขับถ่ายปัสสาวะจะต้องหมด ไม่มีปัสสาวะตกค้าง ดังนั้นหากระบบทางเดินปัสสาวะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น กระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวก่อนถึงเวลาสมควร หรือบีบตัวนอกเหนือจากระบบประสาทสั่งการ หรือกลไกของหูรูดไม่แข็งแรงพอ ก็จะส่งผลให้มีปัสสาวะเล็ดราดออกมา นอกจากนั้นการถ่ายปัสสาวะออกมาไม่หมดมีปัสสาวะตกค้างก็ทำให้มีปัสสาวะเล็ดราดออกมาได้เช่นกัน
สาเหตุของความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ เป็นเพียงอาการเท่านั้น แต่อาการนี้เป็นสิ่งที่ชี้บ่งถึงความผิดปกติหรือโรคอื่นๆที่เป็นอยู่ภายในร่างกายโรคต่างๆได้แก่โรคทางระบบประสาท โรคเกี่ยวเนื่องกับระบบปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต โรคที่เกิดตามวัย ความเสื่อมของร่างกาย โรคเบาหวาน เป็นต้น แต่หากจะสรุปสาเหตุง่ายๆ เพื่อความเข้าใจดังนี้
- สาเหตุจากกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากกระเพาะมีการบีบตัวที่ผิดปกติ ซึ่งส่วนมากจะมีการบีบตัวที่ไวกว่าปกติ บีบตัวอย่างไม่เป็นเวลา ทำให้มีอาการปวดปัสสาวะเร็วกว่าที่ควร และมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา ไม่สามารถควบคุมได้ สาเหตุมักจะเกิดจากโรคทางระบบประสาท โรคทางสมอง ไขสันหลัง ทั้งที่เกิดเองหรือเกิดจากอุบัติเหตุ นอกจากนั้นอาจจะเกิดจากโรคบริเวณกระเพาะปัสสาวะเอง ที่พบบ่อยได้แก่การอักเสบติดเชื้อ แต่มีสาเหตุที่ก่อให้มีกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถชี้บ่งได้ว่าเกิดจากเหตุใด ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหนึ่งที่เราเรียกว่ากระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติ (overactive bladder) ที่ย่อว่า OAB และหลายคนรู้จักกันในนามของ โอ เอ บี นอกจากกระเพาะปัสสาวะที่บีบตัวน้อยลงเช่นในผู้ป่วยเบาหวานก็สามารถทำให้มีปัสสาวะเล็ดราดได้เช่นกัน เนื่องจากมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ และจะไหลรินออกมาเมื่อมีปัสสาวะค้างมากจนเกินกว่าที่กระเพาะปัสสาวะรับได้
- สาเหตุที่เกิดจากกลไกหูรูด ส่วนมากเกิดจากหูรูดที่หย่อนกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ในขณะที่มีการเก็บกักปัสสาวะ มีปัสสาวะไหลราดออกมา หรืออาจจะไหลออกมาเมื่อมีการเพิ่มแรงดันจากในช่องท้อง เช่นเมื่อไอ จาม หัวเราะ มีปัสสาวะเล็ดออกมา ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิง นอกจากนั้นการที่หูรูดทำงานมากกว่าปกติ ทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ออกถ่ายปัสสาวะไม่หมดเมื่อมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะมากก็มีปัสสาวะไหลริออกมาได้เช่นกัน
- สาเหตุร่วมกันระหว่างกระเพาะปัสสาวะและหูรูด คือเป็นสาเหตุร่วมกันของสาเหตุที่ 1 และ 2 ซึ่งทำให้มีปัสสาวะเล็ดราดออกมา พบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบริเวณสันหลัง เช่น จากอุบัติเหตุ จากการผ่าตัดบริเวณสันหลังเป็นต้น
สาเหตุชักนำและกระตุ้นให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
นอกจากโรคต่างๆที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว ยังมีสาเหตุชักนำ และกระตุ้นทำให้มีการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สาเหตุชักนำที่พอจะสรุปได้คือ
- อายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีอายุสูงขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆมีความเสื่อมของร่างกาย ทั้งในระบบของทางเดินปัสสาวะเองและในระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น กระเพาะปัสสาวะที่ผ่านการใช้งานมานานจะมีการทำงานที่แปรปรวนได้ และอายุที่เพิ่มขึ้นจะมีมีโรคต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่ก่อให้มีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการกลั้นปัสสาวะเช่น ฮอร์โมนที่ลดลง มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อเชิงกรานเป็นต้น นอกจากนั้นผู้สูงอายุที่มีอายุมากๆอาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบชั่วคราวได้เพียงแค่มีความผิดปกติในการทำงานของร่างกายเพียงเล็กน้อย เช่นเพียงแค่ท้องผูก หรือรับประทานยาบางชนิด ก็ทำให้ปัสสาวะราดได้ เป็นต้น
- โรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งมีโรคประจำตัวหลายโรคที่ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะ เช่นเบาหวาน เบาจืด โรคทางสมอง เป็นต้น
- ปริมาณปัสสาวะมากขึ้น จากสาเหตุต่างๆ เช่นผู้ป่วยดื่มน้ำมากขึ้น รับประทานยาขับปัสสาวะ
- มีการอุดกั้นต่อการไหลของปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะตกค้าง เช่น ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย เป็นต้น
- มีความผิดปกติบริเวณกระเพาะปัสสาวะ เช่น มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีการอักเสบติดเชื้อ อาทิกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
อาการของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
อาการของผู้ป่วยที่มีการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้น อาการที่พบบ่อยจะแตกต่างไปแล้วแต่เพศ วัย และสาเหตุชักนำต่างๆ แต่อาการพอจะสรุปได้ดังนี้
- ปวดปัสสาวะรุนแรงแล้วปัสสาวะราดออกมา อาการนี้พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมาก ผู้ที่มีการอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย เช่นผู้ที่มีต่อมลูกหมากโตเป็นต้น แต่ผู้ที่พบได้บ่อยมากได้แก่ผู้ที่มีโรคและความผิดปกติในระบบประสาท อาการที่ชัดเจนคือจะมีอาการปวดปัสสาวะนำมาก่อนแล้วมาสามารถยับยั้งได้ มีปัสสาวะเล็ดราด มีปัสสาวะบ่อย ตอนกลางคืนต้องตื่นขึ้นมาถ่ายปัสสาวะ หรือมีปัสสาวะรดที่นอน แต่ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการเพียงปวดปัสสาวะรุนแรงต้องรีบขวนขวายเข้าห้องน้ำ แต่ไม่มีปัสสาวะราดออกมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป้นกลุ่มหลักที่เราเรียกว่า กระเพาะปัสสาวะไวเกิน หรือ โอ เอ บี
- ไอ จาม ปัสสาวะราด ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะเล็ดราดออกมาเมื่อมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง แรงดันเหล่านั้นจะมากดบริเวณกระพาะปัสสาวะ เมื่อกลไกหูรูดไม่แข็งแรงพอก็จะทำให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมาโดยที่ไม่ได้มีการปวดปัสสาวะ? การเพิ่มแรงดันในช่องท้องได้แก่การไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย มักพบในผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่ผ่านการตั้งครรภ์ การคลอด หรือตัดมดลูกเป็นต้น ในเพศชายพบน้อยกว่าเพราะมีต่อมลูกหมากช่วยในระดับหนึ่ง แต่ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดต่อมลูกหมากแล้วก็สามารถพบอาการไอ จามมีปัสสาวะเล็ดราดเมื่อมีการไอ จาม ได้
- ปัสสาวะไหลรินออกมาโดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดปัสสาวะ หรือมีน้อยมาก มีปัสสาวะไหลรินออกมาตลอดเวลา หรืออาจจะไหลออกเมื่อมีการกระเทือน สาเหตุเกิดจากมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมาก เมื่อมีปัสสาวะล้นเกินกว่าที่จะเก็บไว้ได้ก็จะไหลออกมาเอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีลักษณะเฉพาะคือมีปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมากตลอด ทั้งๆที่ถ่ายปัสสาวะแล้ว มักจะเกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการต่อเนื่องมานานหรือมีอาการข้างเคียงจากเบาหวาน หรือมีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะเช่นต่อมลูกหมากโต
- ปัสสาวะรดที่นอน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กซึ่งเป็นตามวัย เมื่อมีการพัฒนาการในการกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้นก็จะหาย แต่ในกรณีที่กระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวที่ไวเกินปกติ หากมีการบีบตัวในช่วงที่นอนหลับก็ทำให้มีปัสสาวะเล็ดราดออกมารดที่นอน 0
- ปัสสาวะเล็ดราดหลังการถ่ายปัสสาวะสุด อาการหลักคือมีการถ่ายปัสสาวะตามปกติ แต่เมื่อปัสสาวะสุดแล้วจะมีปัสสาวะเล็ดตามออกมาอีกเล็กน้อย ทำให้มีการเปียกชื้นหรือส่งกลิ่นเป็นที่น่ารำคาญ มักจะเกิดในผู้ชายที่มีต่อมลูกหมากโต หรือผู้หญิงที่มีถุงน้ำบริเวณท่อปัสสาวะ
รูปที่ 5 แสดง ภาวะ ไอ จาม ปัสสาวะราด
รูปที่ 6 แสดงภาวะปัสสาวะไหลรินออกมาเนื่องจากถ่ายปัสสาวะไม่หมด มีปัสสาวะตกค้าง
การวินิจฉัย
จากอาการของผู้ป่วยที่มีปัสสาวะเล็ดราดมักจะไม่ค่อยมีปัญหาในการวินิจฉัย เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการชัดเจน แต่บางครั้งผู้ป่วยไม่ได้มีปัสสาวะเล็ดราดจริง เนื่องจากมีอาการไม่ชัดเจนหรือมีสารคัดหลั่งอย่างอื่นออกมาคล้ายกับปัสสาวะ แพทย์จึงมีความจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยให้ชัดเจนว่ามีปัสสาวะเล็ดราดออกมาจริง ซึ่งมีการตรวจร่างกายและการตรวจเพิ่มเติมหลายอย่างเช่น การให้ผู้ป่วยสวมผ้ารองซับไว้ แล้วชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกันระหว่างก่อนสวมและหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งมีข้อกำหนดรายละเอียดที่จะไม่กล่าวในที่นี้ หากผู้ป่วยมีปัสสาวะราดอกมาน้ำหนักของผ้ารองซับหลังจากสวมแล้วจะมีน้ำหนักมากกว่าก่อนสวมมาก นอกจากนั้นแพทย์อาจจะตรวจสอบด้วยวิธีการอื่นเพื่อให้เห็นว่ามีปัสสาวะราดออกมาจริง
ผู้ป่วยอาจจะมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยได้มาก โดยการกรอกรายละเอียดบันทึกการถ่ายปัสสาวะ (Voiding diary) ดังภาพ รายละเอียดประกอบด้วยข้อมูลน้ำดื่ม เครื่องดื่มที่ได้รับและปริมาณปัสสาวะที่ถ่ายแออกมา รวมถึงอาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะราด ปวดมาก ปวดท้องน้อยเป็นต้น แยกเป็นช่วงกลางวันและกลางคืน กลางวันหมายถึงตั้งแต่ตอนตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน กลางคืนคือตั้งแต่เข้านอนแล้วจนเช้า จดต่อเนื่องกันประมาณ 4วัน จะทำให้แพทย์ได้ข้อมูลมาก สามารถทำการวินิจฉัยได้ดีขึ้น
ประการสำคัญที่แพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกโรคโดยแยกภาวะที่อาจจะมีส่วนคล้ายคลึงกัน เช่นการอักเสบในทางเดินปัสสาวะ หรือการมีรอยรั่วระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับช่องคลอดเป็นต้น ซึ่งการตรวจบางประการอาจจะสามารถมองเห็นได้ด้วยสายตา บางชนิดต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบ เช่นการส่องกล้องเป็นต้น
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือจะต้องแยกว่าภาวะปัสสาวะเล็ดราดอยู่ในในลักษณะใด ทั้งนี้เนื่องจากการรักษาในแต่ละภาวะจะมีความแตกต่างกัน เช่นกระเพาะปัสสาวะที่มีการบีบตัวไวกว่าปกติจะใช้การักษาด้วยยา แต่หากเป็นภาวะไอ จาม ปัสสาวะราด ก็อาจจะใช้พฤติกรรมบำบัดหรือการผ่าตัดเป็นต้น หากเลือกวิธีการรักษาผิดยิ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลวลง หรือมีความผิดปกติที่ต่อเนื่องต่อไป
ในปัจจุบันข้อคำนึงด้านคุณภาพชีวิต มีมากขึ้นทังนี้เนื่องจากสภาพการใช้ชีวิตในสังคมแตกต่างกันกว่าในอดีต การกลั้นปัสสาวะไม่ไย่อมทำให้มีคุณภาพชีวิตที่เลวลง การสอบถามด้านคุณภาพชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะอาศัยแบบสอบถามที่ผ่านขั้นตอนการวิจัยมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ในการตรวจรักษาตามปกติแพทย์อาจจะไม่ได้ซักประวัติด้านนี้เป็นลำดับแรก
รูปที่ 7 แสดงการบันทึกการถ่ายปัสสาวะ
การตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายประกอบด้วยการตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อประเมินสภาพของผู้ป่วย ตรวจหน้าท้องคลำหน้าท้องว่ามีความผิดปกติใดๆหรือไม่ มีก้อนเนื้อโตที่ผิดปกติ คลำว่ากระเพาะปัสสาวะโป่งคลำพบทางหน้าท้องหรือไม่ ตรวจบริเวณหลังว่ามีการคดงอของสันหลัง มีร่องรอยการผ่าตัดใดเกี่ยวกับสันหลังหรือไม่ สิ่งสำคัญคือแพทย์จะตรวจทางระบบประสาทตั้งแต่ความรู้สึก การทำงานของกล้ามเนื้อที่หล่อเลี้ยงด้วยระบบประสาทในระดับต่างๆ ที่สำคัญคือส่วนที่หล่อเลี้ยงด้วยประสาทสันหลัง ในผู้หญิงการตรวจทางนรีเวช เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดปกติในช่องเชิงกราน มดลูก สภาพของท่อปัสสาวะ อาจจะมีความจำเป็นในกรณีที่แพทย์คิดว่ามีอาการชี้บ่ง ส่วนในเพศชายจะต้องตรวจทางทวารหนักเพื่อตรวจสอบถึงกลไกหูรูด ตรวจต่อมลูกหมาก ว่าโต มีความผิดปกติ มีลักษณะของก้อนมะเร็งหรือไม่
การสืบค้นเพิ่มเติม
การสืบค้นเพิ่มเติม ส่วนมากทำเพื่อแยกชนิดของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และการประเมินความรุนแรง การตรวจขั้นพื้นฐานที่ทำได้ไม่ยากและมีความสำคัญได้แก่การตรวจปัสสาวะ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะส่งตรวจสามารถบอกได้ถึงความผิดปกติได้ เช่นการอักเสบติดเชื้อ การตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะเป็นต้น หากมีการอักเสบติดเชื้อก็ต้องทำการรักษาก่อน ผู้ป่วยบางรายอาการจะดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาการอักเสบติดเชื้อแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจจะหายไปด้วยก็ได้ ส่วนการตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะอาจจะมีสาเหตุมาจากการมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือมีก้อนเนื้องงอก ก้อนมะเร็งในทางเดินปัสสาวะก็ได้ซึ่งจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่นการตรวจทางรังสีวิทยา หรือการส่องกล้อง เป็นต้น
การตรวจทางรังสี มีบทบาทไม่มากนักในการตรวจวินิจฉัยขั้นต้น แต่มีความสำคัญในการสืบค้นถึงความผิดปกติอื่นๆดังได้กล่าวมาแล้ว และอาจจะมีความสำคัญในการประเมินความผิดปกติอื่นๆที่อาจจะเกิดร่วมด้วยเพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสม เช่นกรณีที่มีไอ จาม ปัสสาวะเล็ดราด อาจจะมีการหย่อนตัวของเชิงกรานประกอบด้วย การตรวจทางรังสีจะช่วยได้ ทำให้เราสามารถทำการรักษาควบคู่กันไปในคราวเดียวกัน
การตรวจทางยูโรพลศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ เพียงแต่เราจะใส่น้ำเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแทน และศึกษาถึงความรู้สึก การบีบตัวและกลไกการถ่ายปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะ รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในขบวนการเก็บกักปัสสาวะและขณะถ่ายปัสสาวะ
รูปที่ 8 เครื่องมือในการตรวจยูโรพลศาสตร์
การพิจารณาการรักษา
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะเล็ดราด เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความรำคาญ ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลง ไม่สามารถดำรงชีวิตเช่นปกติได้ ไม่สามารถเดินทาง หรือทำงานที่มีประสิทธิภาพได้ บางรายต้องออกจากงาน หรือขาดความก้าวหน้าในการทำงาน ดังนั้นการรักษาจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ การจะเลือกวิธีการรักษาใดๆจึงขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งความรำคาญ หรือคุณภาพชีวิตของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน โดยมีปัจจัยสำคัญที่อาจจะนำมาประเมินเพื่อเลือกวิธีการรักษาได้แก่ อายุ สภาพของร่างกาย อาชีพ เป็นต้น การรักษาสามารถสรุปได้ตามกลุ่มอาการคือ
1. การรักษากลุ่มอาการปัสสาวะเล็ดราดเมื่อมีการปวดปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาท กับผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติเป็นผู้ป่วยหลักในกลุ่มนี้ การรักษาประกอบด้วย
- ? พฤติกรรมบำบัด โดยการปรับสภาพของน้ำดื่ม เช่นลดปริมาณการดื่ม หรือดื่มตามเวลา และพยายามควบคุมการถ่ายปัสสาวะ ให้ถ่ายเป็นเวลา ซึ่งโดยทั่วไปเราจะถ่ายปัสสาวะประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งถึง 3 ชั่วโมงต่อครั้งในเวลาที่ตื่น หากผู้ป่วยสามารถควบคุมยืดระยะเวลาการถ่ายปัสสาวะออกไปได้ก็จะเป็นการปรับการถ่ายปัสสาวะให้กลับสู่ปกติ แต่การรักษานี้มักจะได้ผลกับผู้ที่มีอาการไม่มากนัก แต่ประการสำคัญคือผู้ป่วยจะต้องทำความเข้าใจว่าคนเราสามารถกลั้นปัสสาวะได้บ้าง หลายคนเข้าใจว่าไม่สามารถกลั้นได้เลยเมื่อมีอาการปวดปัสสาวะจะต้องรีบไปเข้าห้องน้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถกลั้นปัสสาวะทีละ10 นาที 15 นาที จนถึง 30 นาทีได้ โดยไม่เป็นอันตราย และจะทำให้จำนวนครั้งของการถ่ายปัสสาวะห่างออกไป อย่างไรก็ดีวิธีการรักษานี้เราสามารถใช้ร่วมกับการรักษาอื่น เช่นการใช้ยาได้ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ? การใช้ยา ถือเป็นการรักษาที่ได้ผลดี ในกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมีการปวดปัสสาวะและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีอาการของกระเพาะปัสสาวะที่มีการบีบตัวไวกว่าปกติ ยาที่มีประสิทธิภาพในการักษาความผิดปกตินี้ในปัจจุบันมีหลายชนิด กลไกการออกฤทธิ์ของยา จะเข้าไปยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ลดอาการปัสสาวะบ่อย ลดอาการของการมีปัสสาวะเล็ดราด ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีขนาดโตทำให้สามารถเก็บกักปัสสาวะได้มากขึ้น ยาเหล่านี้อยู่ในรูปของยารับประทานเป็นส่วนมาก และสามารถรับประทานได้ง่าย เพราะหลายบริษัทผลิตยาที่มีการแตกตัวช้าทำให้รับประทานแล้วมีฤทธิ์ของยาคงที่ตลอดวัน ทำให้สามารถรับประทานเพียงวันละครั้งเดียวได้ อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้ได้แก่ อาการปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใจสั่น ตาพร่า เป็นต้น ซึ่งมักจะมีอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงนัก แต่อย่างไรก็ดีมีข้อห้ามในการใช้ยากลุ่มนี้บ้าง เช่น ผู้ป่วยต้อหิน หรือผู้ที่มีประวัติลำไส้อุดตัน ไม่สามารถใช้ยาได้ และผู้ป่วยไตวาย หรือการทำงานของตับผิดปกติ จะต้องลดขนาดของยาลง และผู้ที่รับประทานยาฆ่าเชื้อราก็ต้องลดขนาดยาเช่นกัน ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ tolterodine, oxybutynin, trospium, solifenacin เป็นต้น ซึ่งมีชื่อการค้าในแต่ละประเทศแตกต่างกัน
- ? การใส่ยาเข้ากระเพาะปัสสาวะ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยารับประทานได้ หรือไม่ได้ผล การใส่ยาเข้ากระเพาะปัสสาวะอาจจะช่วยลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะได้ แต่ไม่ได้เป็นการถาวร จะต้องทำซ้ำ มียาและสารบางชนิดที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย เช่น resiniferatoxinที่สะกัดมาจากพืชตระกูลกระบองเพชร, capsaicin ที่สะกัดมาจากพริกเป็นต้น หรืออาจะใช้ botulinum toxin ซึ่งเป็นผลิตผลจากแบคทีเรีย ฉีดเข้าผนังกระเพาะปัสสาวะก็ได้
- ? การผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ เป็นการรักษาที่ถือได้ว่ามีที่ใช้ไม่มากนัก โดยจะเลือกใช้เมื่อไม่สามารถใช้วิธีการใดๆได้แล้ว การขยายกระเพาะปัสสาวะส่วนมากเราจะใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหารมาเสริมกระเพาะปัสสาวะทำให้มีขนาดโตขึ้น ลำไส้ที่นำมาใช้มากที่สุดคือลำไส้เล็ก แต่มีข้อเสียที่หลังจากผ่าตัดแล้วผู้บ่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้เอง จะต้องใช้การสวนปัสสาวะเป็นเวลา
- ? การปรับสมดุลระบบประสาท เป็นวิธีการที่เราจะฝังอุปกรณ์อีเลคโทรนิคส์เข้าสู่ร่างกายเพื่อทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะทำงานตามปกติ แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือมีราคาแพง และผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใช้ได้ผล
2. การรักษากลุ่มอาการไอ จาม ปัสสาวะเล็ดราด กลุ่มอาการนี้ มักจะพบในผู้หญิงดังที่กล่าวในตอนต้น การรักษามุ่งทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งประกอบด้วย
- การรักษาเชิงพฤติกรรม ได้แก่การฝึกกล้ามเนื้อเชิงกราน ซึ่งหลายคนรู้จักกันในนามของการขมิบช่องคลอด แต่ความจริงแล้วเป็นการฝึกขมิบกล้ามเนื้อที่หุ้มรอบและทำหน้าที่ประคองท่อปัสสาวะมากกว่า โดยผู้ป่วยจะต้องฝึกขมิบให้กล้ามเนื้อนี้แข็งแรง ซึ่งจะต้องทำการฝึกไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงมักจะประสบปัญหาที่ผู้ป่วยมักจะไม่มีความอดทนพอ ทำให้ไม่สามารถทำการรักษาให้มีประสิทธิภาพได้? วิธีการจะต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แต่หากผู้ป่วยสามารถทำได้ก็จะมีความคงทนถาวร คืออาการจะยังคงดีไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองการรักษาอื่นๆ
- ? การใช้ยารักษา ยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาในปัจจุบันยังไม่มีใช้กว้างขวางเนื่องจากมีอาการข้างเคียงมาก ในประเทศไทยยังไม่ได้นำยานี้มาใช้
- ? การผ่าตัด เพื่อเสริมการทำงานของหูรูด เป็นการรักษาที่นิยมใช้เป็นหลัก เนื่องจากวิธีการผ่าตัดไม่ยุ่งยากมาก และมีประสิทธิภาพสูง การผ่าตัดบางวิธีมีประสิทธิภาพในการรักษาถึงร้อยละ 90 การผ่าตัดทำโดยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มแรงต้านบริเวณท่อปัสสาวะ อาจจะเป็นการผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง หรือทำผ่านช่องคลอดก็ได้ สิ่งที่จะนำมาช่วยเสริมการทำงานของท่อปัสสาวะอาจจะเป็นเนื้อเยื่อของผู้ป่วยเองหรืออาจจะเป็นสารสังเคราะห์ก็ได้ แพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และตามความถนัดของแพทย์ท่านนั้นด้วย
- ? การใช้อุปกรณ์รองซับ โดยการออกแบบมาเป็นผ้ารองซับ หรือกางเกง แล้วแต่ผู้ป่วยแต่ละราย มักจะเลือกใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุมาก ไม่สามารถใช้การรักษาอื่นๆได้ หรือมีข้อห้ามในการผ่าตัดเป็นต้น
รูปที่ 9 แสดงการผ่าตัดแก้ไขปัญหา ไอ จาม มีปัสสาวะราด
การรักษาผู้มีปัสสาวะไหลรินจากการมีปัสสาวะตกค้าง การรักษามุ่งรักษาสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เช่น หากมีต่อมลูกหมากโต ก็ทำการรักษาตามเหตุนั้นๆ แต่มีสาเหตุบางประการที่ไม่สามารถรักษาต้นเหตุได้ เช่นผู้ป่วยที่มีปัญหากระเพาะปัสสาวะบีบตัวน้อย หรือไม่บีบ ที่เป็นสาเหตุมาจากโรคทางระบบประสาท หรือจากเบาหวาน ที่เราไม่สามารถให้ยาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวได้ การรักษาจึงมุ่งไปที่การระบายปัสสาวะออกให้หมด โดยอาจจะใช้การสวนปัสสาวะ คาสายปัสสาวะติดไว้ เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะเป็นเวลา แต่วิธีการนี้ผู้ป่วยจะต้องมีสายสวนปัสสาวะติดตัว สร้างความรำคาญและอาจจะมีการอักเสบติดเชื้อได้ ในปัจจุบันเราะแนะนำให้ใช้การสวนปัสสาวะเป็นเวลา โดยผู้ป่วยอาจจะทำได้เอง หรือให้ผู้ดูแลทำให้ สอดสายสวนปัสสาวะระบายปัสสาวะตามเวลา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ไม่มีปัสสาวะเล็ดราด ไหลริน และผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเพราะไม่มีสายสวนปัสสาวะติดตัว โอกาสมีการอักเสบติดเชื้อน้อยกว่าการคาสายสวนปัสสาวะไว้มาก
รูปที่ 10 แสดงสายสวนปัสสาวะที่ให้สวนด้วยตนเอง
- การรักษาผู้สูงอายุที่มีปัสสาวะราด กลุ่มผู้สูงอายุนี้มักจะมีเหตุกระตุ้นให้มีปัสสาวะเล็ดราดออกมา เช่น ท้องผูก รับประทานยาบางชนิด การเดินไม่ถนัดทำให้ไปห้องน้ำไม่ทัน หรือมีความผิดปกติทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคทางกายได้แก่ เบาหวาน โรคทางระบบประสาท เป็นต้น เป็นต้น การรักษาจึงต้องหาสาเหตุชักนำที่กล่าวมาหลังจากได้แก้ไขปัญหาแล้วผู้ป่วยจะกลับคืนมาเป็นปกติได้? แต่หากยังคงมีปัสสาวะเล็ดราดอีก อาจจะพิจารณาใช้อุปกรณ์รองซับ หรืออุปกรณ์อื่นประกอบ
สรุป
ปัญหาการมีปัสสาวะเล็ดราด หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แต่หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และสามารถเลือกวิธีการรักษาได้ถูกต้องตรงตามสาเหตุจะทำให้ผู้ป่วยกลับมากลั้นปัสสาวะได้ หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการดังกล่าว หรือผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ควรละเลย เพราะการรักษาหลายวิธีทำได้ไม่ยาก แต่สามารถส่งผลดีอย่างมหาศาลต่อผู้ป่วย