สุขภาพน่ารู้ จากหมอยูโร
อาการปัสสาวะบ่อยเกิดจากติดเชื้อ COVID-19 ได้โดย พญ.วลีรัตน์ เศวตสุทธิพันธ์
การระบาดของเชื้อไวรัส Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus-2 (SARS-CoV-2) หรือ COVID-19 ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ที่เมืองหวู่ฮั่น ประเทศจีน และได้ลุกลามไปทั่วโลก จนถึงปัจจุบันนี้ จัดเป็นโรคอุบัติใหม่และก่อให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง โดยในขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 93,956,883 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิต 2,029,084 รายทั่วโลก (ข้อมูลจาก WHO ณ วันที่ 19 มกราคม 2564) (1) โดยในประเทศไทยพบมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 12,594 คน และมีจำนวนผู้เสียชีวิต 70 ราย (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564) (2) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ต่อทั้งชีวิต และระบบเศรษฐกิจโดยรวม พบว่าเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นชนิด RNA สามารถมีการแพร่กระจาย กลายพันธุ์และติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก โดยอาการที่พบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้แก่ ไข้ ไอแห้ง ผู้ป่วยหลายรายมีการพัฒนาไปเป็นโรคปอดอักเสบ หลายรายมีอาการเข้าสู่ขั้นวิกฤติและเสียชีวิตในที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ในหลายอวัยวะ แต่ส่วนใหญ่เชื้อจะอยู่ที่ปอดและลำไส้ตรง จึงสามารถแยกเชื้อเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยได้จากบริเวณ oropharyngeal และ nasopharyngel เป็นหลักและนำมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR (3) (4)
ต่อมาที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนได้มีการศึกษาและสามารถคัดแยกเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้จากปัสสาวะผู้ป่วย COVID-19 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ด้วยวิธี RT-PCR จึงสามารถทำให้เป็นเหตุผลที่ว่าเชื้อไวรัส COVID-19 อาจสามารถแพร่กระจายและติดต่อผ่านทางปัสสาวะได้ด้วยเช่นดังไวรัสชนิดอื่นๆ (5) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ได้มีการศึกษาของ Mummและคณะ (6) ที่พบความผิดปกติของอาการระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง(lower urinary tract symptoms, LUTS) ในผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 7 ราย โดยพบว่าผู้ป่วยทั้ง 7 ราย มีอาการปัสสาวะบ่อยอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 13.7 ครั้งต่อวัน (100% detection rate) ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อยนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากเชื้อไวรัสก่อให้เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากมีการตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะจากผู้ป่วย 3 ราย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า cell-surface protein angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) เป็น receptor หลัก ที่โปรตีนของเชื้อไวรัส COVID-19 จะจับเพื่อทำการบุกรุกเข้าสู่เซลล์ โดยพบว่า ACE2 นั้นมีอยู่มากที่บริเวณ ปอด ลำไส้ ไต และ เซลล์เยื่อบุทางเดินปัสสาวะ (urothelial cell) และยังตรวจพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสารอักเสบชนิด cytokine IL-6, IL-8 และ IP-10 ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการปัสสาวะบ่อยเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน (7) จึงยิ่งสนับสนุนในสมมติฐานที่ว่าเชื้อ COVID-19 อาจก่อให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
อีกสมมติฐานหนึ่งคือ เชื้อไวรัส COVID-19 สามารถก่อให้เกิดภาวะ หลอดเลือดอักเสบ (endothelitis) ได้ จึงอาจไปก่อให้เกิดการอักเสบเฉพาะที่ที่กระเพาะปัสสาวะจนทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยตามมาได้ นอกจากนี้ มีการศึกษาของ Karabulut และคณะ (8) ที่ให้ผู้ป่วย COVID-19 ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับอาการระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง(lower urinary tract symptoms, LUTS) โดยใช้แบบสอบถาม international prostate symptom score(IPSS) พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระดับรุนแรงคือ 20-35 แต้ม มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงกว่า อยู่โรงพยาบาลนานกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าผู้ป่วยที่มีอาการทางปัสสาวะระดับเล็กน้อย และยังมีการศึกษาของ Kaya และคณะ (9) ที่ประเทศตุรกี ได้ทำการสำรวจอาการของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 46 ราย พบว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของการกักเก็บน้ำปัสสาวะ(storage symptom) มากขึ้น โดยในเพศหญิงพบว่ามีภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด(stress urinary incontinence) และกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder) มากขึ้น ด้วยเหตุนี้อาการของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะอาการปัสสาวะบ่อยจึงอาจสามารถใช้เป็นลักษณะอาการทางคลินิกที่บ่งชี้ถึงการสงสัยภาวะติดเชื้อ COVID-19 ได้ และยังมีการศึกษาที่เป็น meta-analysis (10) เกี่ยวกับการตรวจเชื้อไวรัส covid-19 ในปัสสาวะจาก 39 การศึกษา พบว่ามีการตรวจพบเชื้อไวรัส covid-19 ทั้งสิ้น 14 การศึกษา ในผู้ป่วย 24 ราย พบอัตราการมีไวรัสในปัสสาวะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 โดยปริมาณ viral load น้อยกว่าในลำไส้ตรง(rectum) และคอหอย (oropharyngeal) โดยในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะพบไวรัสในปัสสาวะในกลุ่มที่มีอาการของโรค covid-19 ระดับปานกลางถึงรุนแรง แต่ในเด็กสามารถพบได้ในแม้แต่ในรายที่มีอาการเล็กน้อย และสามารถตรวจพบไวรัสในปัสสาวะได้ตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 52 ของการติดเชื้อ
ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเมื่อทำหัตถการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัสสาวะ เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ การใส่สายสวนปัสสาวะ เนื่องจากเชื้ออาจแพร่กระจายและติดต่อทางปัสสาวะได้
Reference
- Organizaion WH. WHO Coronavirus Disease (COVID-19) Dashboard 2021 [Available from: https://covid19.who.int/.
- กระทรวงสาธารณสุข ก. รายงานสถานการณ์ โควิด-19 bangkok2020 [updated 20 January 2021. Available from: https://covid19.ddc.moph.go.th/.
- Wiersinga WJ, Rhodes A, Cheng AC, Peacock SJ, Prescott HC. Pathophysiology, Transmission, Diagnosis, and Treatment of Coronavirus Disease 2019 (COVID-19): A Review. Jama. 2020;324(8):782-93.
- Guan WJ, Ni ZY, Hu Y, Liang WH, Ou CQ, He JX, et al. Clinical Characteristics of Coronavirus Disease 2019 in China. N Engl J Med. 2020;382(18):1708-20.
- Sun J, Zhu A, Li H, Zheng K, Zhuang Z, Chen Z, et al. Isolation of infectious SARS-CoV-2 from urine of a COVID-19 patient. Emerg Microbes Infect. 2020;9(1):991-3.
- Mumm JN, Osterman A, Ruzicka M, Stihl C, Vilsmaier T, Munker D, et al. Urinary Frequency as a Possibly Overlooked Symptom in COVID-19 Patients: Does SARS-CoV-2 Cause Viral Cystitis? Eur Urol. 2020;78(4):624-8.
- Lamb LE, Dhar N, Timar R, Wills M, Dhar S, Chancellor MB. COVID-19 inflammation results in urine cytokine elevation and causes COVID-19 associated cystitis (CAC). Med Hypotheses. 2020;145:110375.
- Karabulut I, Cinislioglu AE, Cinislioglu N, Yilmazel FK, Utlu M, Alay H, et al. The Effect of the Presence of Lower Urinary System Symptoms on the Prognosis of COVID-19: Preliminary Results of a Prospective Study. Urol Int. 2020;104(11-12):853-8.
- Kaya Y, Kaya C, Kartal T, Tahta T, Tokg?z VY. Could LUTS be Early Symptoms of COVID-19. Int J Clin Pract. 2020:e13850.
- Kashi AH, De la Rosette J, Amini E, Abdi H, Fallah-Karkan M, Vaezjalali M. Urinary Viral Shedding of COVID-19 and its Clinical Associations: A Systematic Review and Meta-analysis of Observational Studies. Urol J. 2020;17(5):433-41.
TUA ขอขอบคุณบทความสุขภาพดีๆ จาก
ผู้เขียน อ.พญ.วลีรัตน์ เศวตสุทธิพันธ์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ผู้ตรวจทาน ผศ.พญ.ปกเกศ ศิริศรีตรีรักษ์ รพ.รามาธิบดี