?ไตลูกโป่ง?

สุขภาพคุยสบาย สไตล์หมอยูโร
?ไตลูกโป่ง?

คนเรามีไต 2 ข้าง ยกเว้นบางคนอาจมีไตข้างเดียว ซึ่งมักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่อาจตรวจพบโดยบังเอิญ หรืออาจไม่มีไตเลยตั้งแต่เกิดซึ่งเจอได้น้อยมากและมักเสียชีวิตตั้งแต่เกิด ไตคนเราทำหน้าที่สำคัญคือการกรองเลือดและขับน้ำรวมทั้งของเสียจากร่างกายออกมาในรูปของน้ำปัสสาวะหรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ?ฉี่? โดยคำว่า ?ฉี่? นี้มีความพิเศษตรงที่มีความหมายได้หลายอย่างคือ

  1. เป็นคำกิริยา แปลว่า ถ่ายปัสสาวะ
  2. เป็นคำนาม แปลว่า น้ำปัสสาวะ
  3. เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า เสียงดังเช่นนั้น อย่างเสียงของที่ทอดน้ำมัน
  4. แปลว่า อย่างยิ่ง เช่น เงียบฉี่ ร้อนฉี่
    ปกติแล้วฉี่ที่ผลิตออกจากไต จะขับออกมาที่กรวยไต และส่งต่อไปที่ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ ตามลำดับ โดยที่กรวยไตและท่อไตจะมีการบีบรัดทุก 10-20 วินาที เพื่อส่งฉี่ไปที่กระเพาะปัสสาวะ หากมีอะไรก็ตามมาอุดตรงท่อไต เช่น นิ่ว เนื้องอก พังผืด หรือ ท่อไตตีบก็จะทำให้เกิดภาวะไตบวมน้ำ (hydronephrosis) น่าสนใจมากว่าภาวะนี้ในปัจจุบันอาจตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ หรือที่หมอเรียกว่า ?ไตบวมน้ำก่อนเกิด? (prenatal hydronephrosis) สาเหตุของไตบวมน้ำก่อนเกิดที่พบบ่อยที่สุดคือ โรครอยต่อระหว่างท่อไตและกรวยไตอุดกั้น (ureteropelvic junction obstruction; UPJO) หรือบางครั้งเราเรียกสั้นๆ ว่า ?โรคกรวยไตตีบ? สาเหตุอื่นๆ ที่พบรองลงมาก็เช่น โรคปัสสาวะไหลย้อน (vesicoureteral reflux), โรคกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ (bladder dysfunction) และ โรคลิ้นอุดกั้นท่อปัสสาวะส่วนหลัง (posterior urethral valves) เป็นต้น
    ?ไตลูกโป่ง? เกิดจากการที่ไตบวมน้ำมากๆ จนขยายขนาดไปเกือบเต็มท้อง แต่เป็นลูกโป่งใส่น้ำ (ปัสสาวะ) ต่างจากลูกโป่งสวรรค์ที่ใส่ลมอย่างทั่วๆ ไป หากไตลูกโป่งถูกทิ้งไว้นานไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื้อไตจะค่อยๆ บางลง เด็กจะมีอาการท้องโตขึ้นช้าๆ แต่ทานอาหารได้น้อยลง น้ำหนักไม่ขึ้น ถ้าดื่มนมหรือน้ำหวานจะมีอาการปวดมากขึ้น ร้องไห้งอแง อาเจียน ในบางรายอาจมีอาการฉี่ติดเชื้อร่วมด้วย เช่น ฉี่ขุ่น เหม็นฉุน มีไข้สูง หนาวสั่น หรือท้องเสีย เป็นต้น การที่เนื้อไตบางลงเรื่อยๆ จะเกิดผลเสียคือทำให้การทำงานของไตลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน จนในที่สุดไตข้างนั้นอาจไม่ทำงานเลย หากไตลูกโป่งเป็น 2 ข้างอาจเป็นที่มาขอโรคไตวายเรื้องรัง (chronic renal failure) ได้ หากไตวายระยะสุดท้าย (end-stage renal disease) ก็ถึงขั้นต้องฟอกไตกันเลย อย่างไรก็ตามในความโชคร้ายใดๆ นั้นย่อมมีความโชคดีแฝงอยู่เสมอ กล่าวคือไตและกรวยไตของเด็กนั้นมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ในบางครั้งถึงแม้จะบวมมากจนเป็นไตลูกโป่ง แต่การทำงานของไตมักจะเหลืออยู่พอสมควรและสามารถกลับมาทำงานใกล้เคียงปกติได้เมื่อเด็กโตขึ้น มีน้อยรายมากที่ไม่เหลือการทำงานเลย
    ?ไตลูกโป่ง? ให้การวินิจฉัยได้ไม่ยาก โดยทั่วไปคุณหมอจะทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ตรวจค่าไต อัลตราซาวด์ไต และส่งตรวจสแกนไตต่อไป และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป วิธีการรักษาขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง กล่าวโดยย่อคือ
  5. หากน้องไม่มีอาการ เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญ ไตบวมน้อย การทำงานไตยังปกติ คุณหมอจะนัดตรวจติดตามอาการไปก่อน เพราะน้องอาจจะหายเองได้
  6. หากน้องมีอาการผิดปกติ เช่นปวด อืดแน่น ไข้ ปัสสาวะขุ่น ไตบวมมาก การทำงานของไตผิดปกติ คุณหมอจะนัดผ่าตัดแก้ไขตกแต่งกรวยไต (pyeloplasty) ซึ่งการผ่าตัดมีด้วยกันหลายเทคนิค ทั้งผ่าตัดแบบเปิด (open), ผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic), และใช้หุ่นยนต์ช่วย (robotic)
  7. หากน้องมีอาการอักเสบติดเชื้อของไตบวมน้ำ (infected hydronephrosis) คุณหมอจะให้ยาฆ่าเชื้อและอาจจำเป็นต้องเจาะระบายไต (nephrostomy) และรักษาการอติดเชื้อจนหาย แล้วค่อยนัดทำการผ่าตัดแก้ไข
  8. หากไตบวมน้ำจนเป็นหนอง (pyonephrosis) และสูญเสียการทำงานอย่างถาวร คุณอาจพิจารณาทำการผ่าตัดเอาไตออก (nephrectomy) ซึ่งกรณีมีที่ใช้น้อยมาก
    หลังผ่าตัดแล้วคุณหมอจะนัดตรวจติดตามอาการของน้องไปเรื่อยๆ ด้วยการตรวจฉี่ ตรวจเลือดดูค่าไต อัลตราซาวด์ไต และอาจจะมีส่งตรวจแสกนไตร่วมด้วย จนถึงน้องโตเป็นผู้ใหญ่ ในบางรายก็ต้องทำการตรวจติดตามตลอดชีวิต
    หากน้องมีอาการผิดปกติดังกล่าวคุณพ่อคุณแม่ควรรีบปรึกษาคุณหมอยูโรในรพ.หรือคลินิกใกล้บ้าน โดยที่คุณหมอจะทำการวินิจฉัยและให้รักษาที่เหมาะสมต่อไป เพื่อที่จะได้ช่วยเก็บรักษาไตของน้องให้ทำงานได้ใกล้เคียงปกติไปให้นานที่สุดครับผม

TUA ขอขอบคุณบทความสุขภาพดีๆ จากผู้เขียน รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์ รพ.สวนดอก เชียงใหม่ และผู้ตรวจทาน
ผศ.นพ.กิตติพงษ์ พินธุโสภณรพ.ศิริราช กรุงเทพฯ

Stay Connected

Popular Knowledge

เข้าสู่ระบบ


ลงทะเบียน

(เฉพาะสมาชิก TUA เท่านั้น)

กรุณากรอกข้อมูลด้านล่าง

กู้คืนรหัสผ่านของคุณ

กรุณาระบุอีเมลของคุณ