งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะโดยการผ่าตัดตัดกระเพาะปัสสาวะโดยเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดแบบเปิดกับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
การศึกษานี้เก็บข้อมูลแบบย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดตัดกระเพาะปัสสาวะตั้งแต่เดือน ม.ค. 2006 ถึง ธ.ค. 2016 ทั้งหมด 144 ราย เป็นการผ่าตัดแบบเปิด 57 ราย และการผ่าตัดส่องกล้อง 87 ราย โดยผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับการเลาะต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกรานแบบมาตรฐาน (standard pelvic lymphadenectomy) ระยะเวลานอนโรงพยาบาลเฉลี่ยในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มประมาณ 7-14 วัน เริ่มรับประทานอาหารเหลวใสทางปากหลังผ่าตัดวันที่ 5 จนกระทั่งรับประทานอาหารปกติในวันที่ 7-10
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผ่าตัดเปิดพบมีอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงน้อยกว่ากลุ่มผ่าตัดแบบส่องกล้อง, ความแข็งแรงของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด (ASA score) พบกลุ่มผ่าตัดแบบเปิดที่ผู้ป่วยมีสัดส่วนผู้ป่วยที่ไม่แข็งแรง (ASA score class 3) มากกว่ากลุ่มผ่าตัดแบบส่องกล้อง (p = 0.041), ส่วนค่าดัชนีมวลกาย ระยะของโรคทั้งก้อนมะเร็ง ต่อมน้ำเหลือง และการแพร่กระจาย ไม่แตกต่างกันในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม (p = 0.993, 0.041, 0.089, และ 0.665, ตามลำดับ)
ข้อมูลการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนพบว่า ชนิดช่องทางการปัสสาวะหลังผ่าตัดในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันโดยพบเป็นชนิด ileal conduit มากที่สุด, การระงับปวดพบว่าในกลุ่มผ่าตัดแบบส่องกล้องมีการใช้ยาระงับปวดทางช่องไขสันหลังน้อยกว่ากลุ่มผ่าตัดแบบเปิด (p < 0.001), ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน (p = 0.602), ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดพบว่าการผ่าตัดแบบเปิดใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่ากลุ่มผ่าตัดส่องกล้องอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.001) แต่ก็พบว่ากลุ่มผ่าตัดเปิดมีการเสียเลือดและการให้เลือดที่มากกว่าผ่าตัดส่องกล้องอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน (p < 0.001), ผู้ป่วยกลุ่มผ่าตัดแบบเปิดพบมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง (Clavian-Dindo class 4 to 5) ที่มากกว่ากลุ่มผ่าตัดแบบส่องกล้อง (9 รายในกลุ่มผ่าตัดแบบเปิดและ 3 รายในกลุ่มผ่าตัดส่องกล้อง)
ผลทางพยาธิวิทยาพบว่า ระดับของโรค (grade) การพบมะเร็งต่อมลูกหมากร่วม การตรวจพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระดับ CIS ระยะก้อนมะเร็ง การลุกลามต่อมน้ำเหลือง ระดับการแพร่กระจาย ในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p = 1.000, 0.648, 0.246, 0.945, 0.068, 0.112, 0.194, 1.000, และ 0.865, ตามลำดับ)
ผลทางมะเร็งวิทยาพบผู้ป่วยที่ยังตรวจติดตามหลังการผ่าตัดได้นานกว่า 10 ปีจำนวนทั้งหมด 31 ราย (21.53%) พบการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปิด 35 ราย (61.40%) และในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดส่องกล้อง 57 ราย(65.52%) การกลับเป็นซ้ำของโรค 13 รายในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปิด และ 21 รายในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดส่องกล้อง ส่วนอัตราการรอดชีวิต ระยะเวลาปลอดโรคมะเร็ง อัตราการรอดชีวิตของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม (p = 0.322, 0.946, และ 0.528 ตามลำดับ)
จากการศึกษานี้จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดตัดกระเพาะปัสสาวะในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั้นสามารถทำได้อย่างปลอดภัย แม้จะใช้เวลาผ่าตัดนานกว่าผ่าตัดเปิดแต่มีการเสียเลือดและการให้เลือดที่น้อยกว่า การใช้ยาระงับปวดหลังผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่น้อยกว่า ดังนั้นศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะจึงอาจเสนอเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในผู้ป่วยที่เหมาะสมได้ เพื่อผลการรักษาและการฟื้นตัวของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ดี
แปลและเรียบเรียงโดย นพ.พีร์ พบพาน
