?ปลูกถ่ายปีละ 400 รอไตปีละ 5,000!!!?

เรื่องก่อนใหม่ ไทยยูโร
?ปลูกถ่ายปีละ 400 รอไตปีละ 5,000!!!?


ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไตเพื่อขับของเสียและน้ำออกจากร่างกายแทนการฉี่ตามปกติ การปลูกถ่ายไตเป็นการรักษาที่มีประโยชน์มากเพราะสามารถนำมาทดแทนการฟอกไตได้ ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการฟอกไต
ในประเทศไทยได้มีการปลูกถ่ายไตจากผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2515 ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยอาจารย์อุดม พัฒนถาบุตร อาจารย์พร ตันสถิตย์ อาจารย์พิชัย บุณยะรัตเวช และคณะ ต่อมาเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2516 จึงได้มีการผ่าตัดเปลี่ยนไตรายแรกของ รพ.ศิริราช โดยอาจารย์อุดม โปษะกฤษณะ อาจารย์ไพบูลย์ จิตประไพ อาจารย์ตุ๊ ชัยวัฒน์ อาจารย์สัมพันธ์ ตันติวงศ์ อาจารย์ธงชัย พรรณลาภ และอาจารย์ดำรัส โรจนเสถียร ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 จึงเริ่มมีการปลูกถ่ายไตที่รพ. รามาธิบดี โดยการนำของอาจารย์ไพฑูรย์ คชเสนี ซึ่งต่อมารพ.รามาธิบดี เป็นรพ. ที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไตมากที่สุดของประเทศ และในปี พ.ศ. 2531 มีการปลูกถ่ายไตที่รพ. มหาราชนครเชียงใหม่ โดยอาจารย์สุพจน์ วุฒิการณ์ และคณะ นับเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในรพ. ต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 มีการปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยเด็กอายุ 8 ปี เป็นผลสำเร็จ โดยอาจารย์ไพบูลย์ จิตประไพ ที่รพ. ศิริราช และมีความก้าวหน้าเรื่อยมาในหลายสถาบันโดยเฉพาะรพ. พระมงกุฎเกล้า ก้าวที่สำคัญอีกก้าวคือ การผ่าตัดเอาไตออกจากผู้บริจาคผ่านกล้อง เป็นครั้งแรก โดยอาจารย์ไชยยงค์ นวลยง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ที่รพ.ศิริราช ล่าสุดในปี พ.ศ. 2552 ที่รพ. จุฬาลงกรณ์ ได้มีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยต่างกรุ๊ปเลือดสำเร็จเป็นรายแรกของไทย
ในประเทศไทยจำนวนรพ. ที่สามารถปลูกถ่ายไตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีถึง 26 แห่ง และมีรพ. สมทบอีก 17 แห่งทั่วประเทศ นอกจากรพ. ในรร.แพทย์และสถาบันฝึกอบรมหลัก ยังมีรพ. อื่นๆ ที่มีความโดดเด่น เช่น รพ.ศรีนครินทร์ รพ.ของจังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี พิษณุโลก และ หาดใหญ่ เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ตามอัตราการปลูกถ่ายไตในประเทศไทยยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยไตวายที่รอรับการปลูกถ่ายไต โดยคิดเป็นเพียงร้อยละ 7.8 เท่านั้น ดังข้อมูลจากศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยพบว่า ในปี พ.ศ. 2559 มีผู้รอไต 5,275 ราย ผู้ได้รับการปลูกถ่ายไต 414 และผู้บริจาคไต 220 ราย โดยผู้ป่วยมีระยะเวลาการรอนานเฉลี่ย 2 ปี 7 เดือน 17 วัน!
จึงเป็นหน้าที่และความท้าทายของสถาบันฝึกอบรมและสมาคมยูโร ที่จะกำหนดทิศทางและวางแผน เพื่อความสำเร็จของศาสตร์นี้ในวงการแพทย์ โดยมุ่งผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักต่อไป


ที่มา: รศ.นพ.ธวัชชัย ทวีมั่นคงทรัพย์ หนังสือ 3 ทศวรรษ ยูโรไทยฯ
นำเสนอ: รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์

Stay Connected

Popular Knowledge

เข้าสู่ระบบ


ลงทะเบียน

(เฉพาะสมาชิก TUA เท่านั้น)

กรุณากรอกข้อมูลด้านล่าง

กู้คืนรหัสผ่านของคุณ

กรุณาระบุอีเมลของคุณ