ชมรมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2508
วัตถุประสงค์ของชมรม คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ ปรึกษาหารือกันในทางด้านวิชายูโรวิทยา
ประวัติสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(Thai Urological Association under the Royal Patronage)
การผ่าตัดระบบปัสสาวะที่มีบันทึกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย คือ การผ่าตัดนิ่วจากกระเพาะปัสสาวะโดย นพ. George? McFarland (พระอาจวิทยาคม) ที่โรงพยาบาลศิริราช ในปี พ.ศ. 2434 ต่อมาศาสตราจารย์ TP Noble ซึ่งอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว ยกย่องเป็น ?มหาศัลยแพทย์แห่งยุค? ซึ่งมูลนิธิ Rockefeller ส่งมาเป็นหัวหน้าแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลศิริราช ช่วงปี พ.ศ. 2469-2479 เป็นผู้พัฒนาขีดความสามารถในการผ่าตัดระบบปัสสาวะของไทย ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประจักษณ์? ทองประเสริฐ แพทย์ประกาศนียบัตร (ป.พ.) ศิริราช รุ่น 31 พ.ศ. 2468 ท่านได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ พ.ศ. 2479 ท่านเคยศึกษากับ Professor Hugh Hampton Young ที่โรงพยาบาล Johns Hopkins โดยทุน Rockefeller ท่านเป็นศัลยแพทย์ไทยคนแรกที่เริ่มต้นศักราชของ Modern Urology ในประเทศไทย
นายแพทย์สมัย จันทวิมล ลูกศิษย์ศาสตราจารย์นายแพทย์ประจักษณ์ ทองประเสริฐ เป็นหัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ (ยูโรวิทยา) คนแรกใน พ.ศ.2485 และนับว่าเป็นศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะคนแรกของประเทศไทยด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์สัมพันธ์ ตันติวงศ์ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะคนต่อมาใน พ.ศ.2491 และเป็นหัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะที่ยาวนานที่สุดกว่า 30 ปี ต่อมาเป็นประธานชมรมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะที่ยาวนานที่สุด ปัจจุบันเป็นศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะอาวุโสที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่
ชมรมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นวันที่ประชุมชมรมฯ ครั้งที่ 1 ณ โรงพยาบาลหญิง (โรงพยาบาลราชวิถี) โดยมีอาจารย์สมัย จันทวิมล เป็นประธานชมรมคนแรก และมีสมาชิกก่อตั้งจำนวน 24 คน วัตถุประสงค์ของชมรม คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ ปรึกษาหารือกันในทางด้านวิชายูโรวิทยา และการสังสรรค์เพื่อความสนิทสนมเป็นปึกแผ่นของแพทย์ซึ่งปฏิบัติงานในสาขานี้ ชมรมฯ ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่อง โดยจัดประชุมทุก 2 เดือน หมุนเวียนไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ชมรมฯ และวิทยาการในสาขานี้เจริญเติบโตก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ
เหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้ในช่วงที่เป็นชมรมฯ คือ กองควบคุมการประกอบโรคศิลปได้มีการแต่งตั้ง อาจารย์สมัย จันทวิมล เป็นแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะคนแรก และเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาความรู้ ความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางสาขานี้ชุดแรกด้วย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2507 (ปีที่เริ่มก่อตั้งชมรมฯ)
1 ธันวาคม 2508 จัดตั้งทุน Takeda ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของอาจารย์สมัย จันทวิมล กับ Prof.Sentaro Shishito แห่ง Tohoku University School of Medicine , Sendai ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนแพทย์ทางยูโรปีละ 1 คน คนละ 3 เดือน โดย นพ.ปุ่น ปิยะศิลป์ จากโรงพยาบาลสุรินทร์ เป็นคนแรกที่ได้รับทุน
27 กรกฎาคม 2515 ริเริ่มการก่อตั้งราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โดยเป็นการรวมตัวของอนุกรรมการสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์
23 พฤษภาคม 2518 ประกาศแต่งตั้งราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย มี นพ.สัมพันธ์ ตันติวงศ์ เป็นกรรมการในฐานะผู้แทนกลุ่มศัลยแพทย์ยูโรคนแรก
1 พฤษภาคม 2519? ออกวารสารยูโร ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการทางชมรมฯ ฉบับแรก พิมพ์จำนวน 1,250 เล่ม ออกปีละ 1 ฉบับ มี นพ.ไพฑูรย์ คชเสนี เป็นบรรณาธิการคนแรก
20-22 สิงหาคม 2523? อบรมระยะสั้นของชมรมฯ ร่วมกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทสไทย ครั้งแรก ณ โรงพยาบาลศิริราช
14 มกราคม 2527 ปาฐกถา ?สมัย จันทรวิมล? ครั้งที่ 1 เรื่อง Current status of? Urolithiasis in Thailand องค์ปาฐก คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ
กำเนิดสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ
เกิดจากแนวความคิดก้าวหน้าของศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี ที่ต้องการให้ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะของไทยมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ สามารถทำกิจกรรมและการติดต่อกับสมาคมต่างชาติได้อย่างราบรื่น? สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ (ประเทศไทย)? จึงจัดตั้งสมาคมฯ ขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคม 2531 ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ?The Association of Urological Surgeons of Thailand? สมาคมฯ ยังคงยึดมั่นในวัตถุประสงค์เดิมของชมรมฯ คือประโยชน์ในทางวิชาการ และความสัมพันธ์อันดีในหมู่สมาชิก และเพิ่มเติมบทบาทด้านวิชาการของแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของสมาคมฯ ในอนาคต รวมทั้งความเป็นสากล และการทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย
ความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของสมาคมฯ สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ด้าน ดังนี้
++ ด้านวิชาการ ได้แก่ ประชุมวิชาการ , Interhospital Conference , กลุ่มวิชาการ , เอกสารวิชาการ (ตำรา), ปาฐกถาและด้านวิชาการ+รางวัล
++ ด้านสมาชิกสัมพันธ์ ได้แก่ การประชุมวิชาการ , งานมุทิตาจิตอาจารย์อาวุโส
++ ด้านความเป็นสากล ได้แก่ การจัดประชุมระดับนานาชาติ , การเป็นสมาชิกองค์กรนานาชาติ และการรับสมาชิกกิตติมศักดิ์
ด้านวิชาการ
การประชุมวิชาการ การประชุมวิชาการ คือ เป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญที่สุดของสมาคมฯ ที่ได้ทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เป็นชมรมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ เมื่อสมาชิกมีมากขึ้น การจัดประชุมทุก 2 เดือนตามโรงพยาบาล จึงได้ย้ายเป็นประชุมประจำปีปีละ 1 ครั้งที่โรงแรม แต่ยังคงแนวคิดให้มีกิจกรรมพบปะสังสรรค์กับครอบครัวของสมาชิกด้วย จึงจัดในช่วงปิดภาคการศึกษา และเนื่องจากเนื้อหาทางวิชาการมีมากขึ้น ผลงานทางวิชาการที่นำเสนอโดยสมาชิกและแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น จึงได้ขยายเวลาการประชุมจาก 1 วันเป็น 2-3 วัน และผนวกเอาการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมฯ ร่วมด้วย
ส่วนการประชุมวิชาการย่อย ๆ มีการพัฒนาหลายรูปแบบ คือ Interhospital Conference สำหรับแพทย์ประจำบ้าน และอาจารย์ในสถาบันฝึกอบรมทั้ง 6 แห่งเป็นหลัก หมุนเวียนกันจัดทุก 2 เดือนตามสถาบันต่าง ๆ เนื้อหาเป็นการนำเสนอและอภิปรายผู้ป่วยที่น่าสนใจ ซึ่งคล้ายกับรูปแบบการประชุมของชมรมฯ ในสมัยแรก ๆ
นอกจากนี้ ได้มีการจัดอบรมระยะสั้น และอบรมเชิงปฎิบัติที่เน้นเนื้อหาเฉพาะเรื่อง การจัดบรรยายพิเศษโดยวิทยากรต่างประเทศ และการจัดประชุมยูโรสัญจรไปตามโรงพยาบาลในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเน้นปัญหาและบทบาทของแพทย์ในแต่ละภูมิภาคเป็นสำคัญ
กลุ่มวิชาการ เนื่องจากวิชาความรู้ด้านศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากทั้งการตรวจวินิจฉัย ยาใหม่ และเทคนิควิธีการผ่าตัดรักษาที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้วิชาความรู้แต่ละด้านมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงมีการเกิดกลุ่มวิชาการหรืออนุสาขาต่าง ๆ ในนานาอารยประเทศ สมาคมฯก็มีกลุ่มวิชาการต่าง ๆ เกิดขึ้นเช่นกัน เริ่มจากกลุ่มโรคต่อมลูกหมากโต โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคมะเร็ง โรคของการควบคุมการถ่ายปัสสาวะ และโรคนิ่ว นอกจากนี้ยังได้มีการรวมตัวของพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยด้านนี้ตามสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ เกิดเป็นชมรมพยาบาลระบบปัสสาวะภายใต้การดูแลของสมาคมฯ ด้วย
เอกสารตำราและสื่อทางวิชาการ สมาคมฯ ได้สนับสนุนการผลิตตำราของสถาบันฝึกอบรมเพื่อเป็นสื่อส่งเสริมกระจายความรู้ด้านนี้ให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ตำราที่ผลิตมี 4 เล่ม ได้แก่ ตำราภาวะฉุกเฉินในศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ (พ.ศ. 2542) , ตำรามะเร็งในทางเดินปัสสาวะ (พ.ศ. 2543) , ตำราสุขภาพเพศชาย (พ.ศ. 2546) และตำรากระเพาะปัสสาวะพิการจากระบบประสาท (พ.ศ. 2549)
นอกจากนี้ ยังมีสื่อทางวิชาการรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ วารสารยูโร ซึ่งออกครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ปัจจุบันออกปีละ 2 ฉบับ
ปาฐกถาและรางวัลทางด้านวิชาการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 สมาคมฯ จัดปาฐกถาเกียรติยศ ?สมัย จันทวิมล? ขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมประจำปี โดยองค์ปาฐกาเป็นอาจารย์อาวุโส และในพ.ศ. 2536 ได้จัดปาฐกถา ?ไพฑูรย์ คชเสนี? โดยเชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเป็นองค์ปาฐกา เพื่อเป็นการรำลึกถึงศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ทุ่มเทด้านวิชาการให้ลูกศิษย์ และสมาชิกของสมาคมฯ ตลอดมา
นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้มีการตั้งรางวัลเป็นชื่อของอาจารย์อาวุโสที่เป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ เพื่อกระตุ้นให้ลูกศิษย์มีความกระตือรือล้นพัฒนาผลงานวิชาการด้านต่าง ๆ ได้แก่ รางวัล ?โชติ พานิชกุล? ให้แก่แพทย์ประจำบ้านที่เขียนรายงานผู้ป่วยดีเด่น? รางวัล ?ไพฑูรย์ คชเสนี? มอบให้แก่แพทย์ที่เสนอผลงานทางด้านวิชาการดีเด่น ในงานประชุมวิชาการประจำปี และรางวัล ?สิริ-อุดม? ให้แก่ผู้นำเสนอผลงานทางวิชาการในรูปแบบวีดีทัศน์ดีเด่น
ด้านสมาชิกสัมพันธ์
การสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีของสมาชิก และความเป็นปึกแผ่นของสมาคมฯ เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของสมาคมฯ ซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่เป็นชมรมฯ ดังนั้น ในการประชุมวิชาการประจำปี จึงมีกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ของสมาชิกรวมทั้งครอบครัว และบริษัทยาเวชภัณฑ์ที่สนับสนุนการจัดประชุมเสมอ นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้เริ่มออกจดหมายข่าว?? ยูโรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นสื่อสำหรับแจ้งข่าวสารสำคัญต่าง ๆ ให้กับสมาชิกทุก 2 เดือน และพัฒนา website ของสมาคมฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการสื่อสารข่าว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ต่าง ๆ กับสมาชิกอีกทางหนึ่งด้วย
จากความสัมพันธ์ และความสามัคคีที่มีมายาวนาน รวมทั้งลักษณะที่เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ศัลยแพทย์ยูโรได้รับการยกย่องเป็น ?สุภาพบุรุษของวงการศัลยแพทย์? ดังนั้น สมาคมฯ จึงต้องการสืบทอดค่านิยมที่ดีงามนี้ โดยการจัดงานแสดงมุทิตาจิตแก่อาจารย์อาวุโสเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสมาคมฯ อีกงานหนึ่งด้วย
ด้านความเป็นสากล
สมาคมฯ ได้พัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ และการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยวิธีการต่าง ๆ คือ
1. การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ได้แก่
? วันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 จัดประชุมวิชาการ ?2nd Asian Congress of? Urology?? ณ โรงแรม Shangri-La? กรุงเทพฯ
? วันที่ 10-14 ธันวาคม 2540 จัดประชุมวิชาการ ?5th Federation of? ASEAN Urological Association (FAUA)?? ณ จังหวัดเชียงใหม่
? วันที่ 23-26 ตุลาคม 2544? จัดประชุมวิชาการ ?8th Asia-Pacific Society for Impotence Research (APSIR) ณ โรงแรม Acardia จังหวัดภูเก็ต
? วันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2544 จัดประชุมวิชาการ ?19th World Congress on Endourology (WCE) ณ โรงแรม Central กรุงเทพฯ
? วันที่ 25-28 มกราคม 2548 จัดประชุมวิชาการ ?3rd Meeting of the Asia Pacific Socity for the Study of the Aging Male (APSSAM) ณ จังหวัดเชียงใหม่
? วันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2548 จัดประชุมวิชาการ ?Asia-Pacific Continence Advisory Board และ Asian Society for Female Urology? ณ โรงแรม Plaza Attene กรุงเทพฯ
? วันที่ 3-5 เมษายน 2552 จัดประชุมวิชาการ ?Education Course of International Continence Society (ICS) ณ โรงแรมเดอะซายน์ พัทยา
2. การเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศด้านศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ได้แก่ การเป็นสมาชิกของ Federation of ASEAN Urological Associations (FAUA) และ Urological Association of Asia (UAA) ใน พ.ศ. 2536 , สมาชิก Urological Association of Asia? และ Society Incontinence of Urology พ.ศ. 2537 ,สมาชิก APSIR และสมาชิก APSSAM
3.การเชิญวิทยากรต่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ ได้แก่ Prof,.Akihiko
Okuyama , Prof.Michael Marberger , Prof.Roger Dmochowski , Dr.Michael Wong , Prof.Philip Van Kerrebroeck , Prof.Frans
Debruyne , Prof.Helmut Madersbacher และ Prof. Raymond J. Leveillee
สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชมรมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะในปี พ.ศ. 2508 จวบจนปัจจุบัน รวมทั้งได้นำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติทั้งในด้านบริการวิชาการ และการผลิตศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2548 นับเป็นความปลาบปลื้มแก่มวลสมาชิกอย่างหาที่สุดมิได้ อย่างไรก็ดีกิจกรรมต่าง ๆ ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งพร้อมทั้งสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสมาคมฯ ให้รุดหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ภายหลังจากที่ สมาคมศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะแห่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง สมาคมฯได้รับเกียรติจากศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะจากต่างประเทศจำนวนมากที่ให้ความข่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมฯ จนได้รับการรับรองจากมวลสมาชิกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของทางสมาคม จนถึงปัจจุบันจำนวน 10 ท่าน ได้แก่ Prof.Akihiko Okuyama จากประเทศ ญี่ปุ่น Prof. Michael Marberger และ Prof.Helmut Madersbacher จากประเทศออสเตรีย Prof.Philip Van Kerrebroeck และ Prof. Frans Debruyne จากประเทศ เนเธอร์แลนด์ Dr.Michael Wong และ Prof.Peter Lim Huat Chye จากประเทศสิงคโปร์ Prof. Roger Dmochowski, Prof. Raymond J.Leveillee และ Prof. Howard B.Goldman จากประเทศสหรัฐอเมริกา กิจกรรมของทางสมาคมฯได้ก่อประโยชน์และสร้างชื่อเสียงในฐานะองค์กรที่เป็นตัวแทนของศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ ของประเทศไทยจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงรับสมาคมเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ วันที่ 3 ตุลาคม พศ. 2548 เป็นต้นมา
นอกจากนั้น ภารกิจของสมาคมฯโดยนายกสมาคม นพ.กฤษฎา รัตนโอฬาร และ นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ได้ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนาการศึกษาและการ ฝึกอบรมระยะสั้นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในสาขาวิชายูโรวิทยาให้แก่สมาชิกในลักษณะต่อยอดอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น Endourology. Urinary Incontinence และ Oncology ฯลฯ จัดให้การประชุมวิชาการในโรงพยาบาลต่างๆตามส่วนภูมิภาคในนาม การประชุมยูโรสัญจร เพื่อรับทราบปัญหาการปฏิบัติงานของศัลยแพทย์ที่ทำงานตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้สมาคมได้ปรับปรุงการบริหารงานให้สอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงานของสมาชิก จัดงานมุฑิตาจิตเพื่อระลึกถึงคุณความดีของบรรดา ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะอาวุโสที่มีส่วนสนับสนุนการก่อตั้งสมาคมฯมาตั้งแต่ในอดีต ในด้านการศึกษาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เป็นสาขาวิชาแรกของประเทศไทยที่ให้มีการเก็บหลักฐานการปฏิบัติงานและส่งผลงานวิจัยของแพทย์ประจำบ้านก่อนการสอบ นอกจากนั้นสมาคมยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากพยาบาลที่ปฏิบัติงานสาขานี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบของสมาคมฯด้วย