ว่าด้วยเรื่องของ ?ไข่ที่ไม่ยอมลงถุง?
โดย ลุงหมอขุน
กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้องของคุณแม่ที่น่ารักทุกท่านครับ วันนี้ลุงหมอมีเรื่องมีราวมาบอกกล่าวอีกครั้ง เกี่ยวกับไข่ (อัณฑะ) ของเจ้าลูกชายคนดี ภาวะนี้มีหลายชื่อมาก เช่น ?ไข่ค้าง? ?ไข่ไม่ลงถุง? หรือ ?ทองแดง? เป็นต้น เอทำไมมีหลายชื่อจังหนอ เป็นยังไงกันแน่ ขอเชิญคุณแม่มาลองฟังดูครับ
?ไข่ไม่ลงถุง? คือ ภาวะที่ไข่อยู่สูงกว่าจุดกึ่งกลางถุงใส่ไข่ (อัณฑะ) ขึ้นไป เป็นอะไรที่พบได้บ่อยบ่อย ถึงร้อยละ 1-4 ในทารกแรกเกิดเพศชาย และจะพบได้บ่อยถึงร้อยละ 1-40 ถ้าน้องเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด ถือว่าพบบ่อยจริงจริงครับ และจะพบร่วมกับความผิดอื่นๆ บริเวณนี้ เช่น รูจมูกช้างน้อยเปิดต่ำ ช้างน้อยผิดรูปอื่นอื่น หรือมีกลุ่มอาการของโรคที่เรียกว่า ซินโดรม และอาจเป็นส่วนหนึ่งของภาวะพัฒนาการทางเพศผิดปกติ (disorders of sex development) เป็นต้น
เหตุที่ไข่ไม่ยอมลงถุง ไม่ได้เป็นเพราะว่า ไข่ดื้อ ไข่หัวสูง หรือ ไข่อยู่ไม่เป็น แต่จริงจริงแล้วยังไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุที่แน่ชัด โดยอาจเกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆ มากมายเช่น การได้รับสารขัดขวางฮอร์โมน (hormone disruptors) ขณะที่คุณแม่กำลังมีน้องอยู่ในท้อง ความผิดปกติของผนังหน้าท้องของน้อง ความผิดปกติของเส้นประสาทและเนื้อเยื่อส่วนที่ช่วยการเคลื่อนตัวลงของไข่ เป็นต้น
เจ้าไข่ใบเล็กเล็กนี้มีประโยชน์หลายอย่างมากนะครับสำหรับน้องน้อง ทั้งผลิตฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เป็นชายสมชายทั้งภายนอกและภายใน ที่สำคัญมากคือผลิตตัวอสุจิเอาไว้ให้น้องใช้สืบวงศ์ตระกูล อีกอย่างการที่น้องมีไข่ 2 ใบในถุงก้อน่าจะมีความมั่นอกมั่นใจในตนเอง ไม่เป็นปมชีวิตเมื่อโตขึ้น
ไข่ไม่ลงถุงเหมือนเป็นเรื่องสิวสิว แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะมีผลกระทบกับน้องหลายอย่างดังนี้
1. เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งไข่มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 2-5 เท่า
2. เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไข่บิดขั้วและ2 ขาดเลือดถาวรได้
3. เสี่ยงต่อการมีบุตรยากหรือเป็นหมันในอนาคต
4. เสี่ยงต่อการเกิดไส้เลื่อนขาหนีบหรือถุงน้ำในถุงใส่ไข่
5. เสี่ยงต่อการกระทบกระแทกหากไข่น้องอยู่ในช่องขาหนีบ
6. เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องในผู้ใหญ่
การทำให้ไข่ลงถุงเป็นเรื่องไม่ยากเกินความสามารถของคุณหมอยูโรไทยทุกท่าน แท้ที่จริงแล้วหากน้องอายุยังน้อยอยู่ ก้อยังมีโอกาสที่ไข่จะเลื่อนไหลลงถุงได้เองถึงประมาณร้อยละ 70 ที่อายุ 6 เดือน แต่หลังจากนั้นโอกาสจะลงมาเองมีน้อยมาก และมีข้อมูลบ่งชี้ว่าหากไข่อยู่นอกถุงเกินอายุ 1 ขวบจะเริ่มมีความเสียหายเกิดขึ้นกับเซลล์ต้นกำเนิดตัวอสุจิมากขึ้นเรื่อยเรื่อย น่าเป็นห่วงเหมือนกันครับ
ไข่จะลงถุงได้ด้วยการผ่าตัดแก้ไขให้อยู่ในถุงเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า orchidopexy ส่วนใหญ่จะมีการลงแผลผ่าตัดเล็กๆ ที่ขาหนีบและถุงใส่ไข่ข้างนั้น ส่วนน้อยอาจมีเพียงการลงแผลที่ถุงใส่ไข่อย่างเดียว ในกรณีที่ไข่น้องอยู่ในช่องท้อง คุณหมอยูโรอาจจะทำการผ่าตัดผ่านกล้องที่เจาะผ่านผิวหนังหน้าท้อง มีน้อยรายที่ต้องผ่าตัดขั้นตอนที่ 1 และอีก 6 เดือนหลังจากนั้นก้อนัดมาผ่าตัดขั้นตอนที่ 2 ถือว่าไม่ธรรมดาเหมือนกันครับ
ลุงหมอขอย้ำว่า ลุงหมอขอย้ำว่า และคุณหมอขอย้ำว่า การผ่าตัดเป็นการรักษาเดียวในปัจจุบันนี้ที่ได้ผลดีและมีมาตรฐาน ส่วนการรักษาด้วยยาไม่ว่าจะทา กิน หรือฉีด ยังไม่ได้ผลดีจึงไม่แนะนำให้ใช้ครับ สรุปว่าไข่ไม่ลงถุงทุกใบจะสงบ และจบที่หมอยูโรครับ
ด้วยความรักและความห่วงใย ลุงหมอจึงขอแนะนำให้คุณแม่พาน้องๆ ที่มีภาวะนี้ ปรึกษาคุณหมอยูโรแต่เนิ่นๆ จะได้วางแผนการรักษาและผ่าตัดได้ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อที่น้องจะได้เติบใหญ่เป็นเด็กชายไทยที่มีไข่คุณภาพดีเอาไว้สืบนามสกุลของบรรพบุรุษ และเป็นชายไทยที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจในฮอร์โมนต่อไปนะครับ
สุดท้ายนี้ลุงหมอขอฝากคำขวัญปีใหม่ 2563 ให้กับคุณแม่และน้องๆ ว่า ?เด็กชายไทย ไม่มีไข่ในถุง ครบทั้ง 2 ใบ ไม่ได้!!!? เน้อออแม่เน้อออ แล้วพบกันใหม่ในเดือนหน้านะครับ สวัสดีครับ
TUA ขอขอบพระคุณมากสำหรับบทความสุขภาพดีๆ จาก
ผู้เขียน รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์
รพ. มหาราชนครเชียงใหม่
ผู้ตรวจทาน ผศ.นพ.กิตติพงษ์ พินธุโสภณ
รพ. ศิริราช