นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สาเหตุของการเกิดนิ่ว
นิ่วเกิดจากผลึกและสิ่งแปลกปลอมที่มีการตกตะกอนเป็นก้อน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ คือกรรมพันธุ์ อายุ เพศ อาหารที่รับประทาน ปริมาณน้ำที่ดื่ม ยาที่รับประทาน รวมถึงภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และความผิดปกติทางกายวิภาคของระบบทางเดินปัสสาวะ
ตำแหน่งที่พบนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
พบได้ตั้งแต่ใน ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ
อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์
? มีอาการปวดที่บริเวณบั้นเอวหรือบริเวณท้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของนิ่ว
? มีปัสสาวะเป็นเลือด
? มีปัสสาวะแสบ,ขัด,ปัสสาวะลำบาก
? มีไข้
? มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
? ปัสสาวะไม่ออก กรณีเป็นนิ่วบริเวณท่อปัสสาวะ
? ไม่มีน้ำปัสสาวะ กรณีที่มีภาวะอุดตันของไตอย่างรุนแรงทั้งสองข้าง
การรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
ปัจจุบันการรักษามีหลายวิธีแล้ว ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย อาจจะเป็นการผ่าตัด การเจาะเพื่อดูดเอานิ่วออก หรือการสลายนิ่ว ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อจำกัดบางประการที่เพทย์จะเลือกให้กับผู้ป่วยตามพยาธิสภาพของโรค
การรักษาโรคนิ่วโดยวิธีการสลายนิ่ว
การสลายนิ่ว คือ การรักษาโรคนิ่วโดยการทำให้นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยพลังงานเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากภายนอกร่างกาย ซึ่งพลังงานนี้จะผ่านเข้าสู่ร่างกายโดยไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อ หลังจากที่นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆแล้ว จะหลุดปนออกมากับปัสสาวะ เป็นการรักษาที่ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา ไม่ต้องดมยาสลบใดๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลาที่ทำการรักษา ไม่มีแผลหรือท่อระบายใดๆออกมานอกร่างกาย ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้หลังจากรับการรักษาแล้ว
การเตรียมตัวเพื่อไปรับการสลายนิ่ว
? ควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย
? ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
? ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตรงตามวันนัด
การปฏิบัติตัวขณะทำการสลายนิ่ว
? อาจจะต้องนอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง แล้วแต่ตำแหน่งของนิ่ว
? แพทย์จะหาตำแหน่งของนิ่วโดยการเอ็กซเรย์หลังจากเอ็กซเรย์แล้วผู้ป่วยต้องนอนนิ่งๆ เพราะจะทำให้ตำแหน่งของนิ่วไม่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม
? ขณะทำการสลายนิ่วจะมีเสียงดังเบาๆ ทุกครั้งที่มีพลังงานเสียงตกกระทบก้อนนิ่ว
? อาจจะรู้สึกปวดบ้างจากพลังงานเสียงที่ตกกระทบ ถ้าปวดมากจนทนไม่ได้ ต้องบอกให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ เพื่อลดระดับของพลังงานลง หรืออาจหยุดพักเป็นระยะๆ
? บางรายอาจจะรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียนหรือจะเป็นลม ควรรีบบอกให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ
การปฏิบัติตัวหลังการสลายนิ่ว
? วันแรกอาจจะรู้สึกปวดมาก ควรรับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์จัดให้ จะช่วยให้อาการทุเลาลง ปัสสาวะอาจเป็นสีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อไม่ต้องตกใจ ควรนอนพักและดื่มน้ำมากๆ อาการจะดีขึ้นและหายไปใน 1-2 วัน
? งดการทำงานหนักประมาณ 1-2 วันโดยเฉพาะช่วงที่ปัสสาวะเป็นสีแดง
? ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อย 3-4 ลิตรต่อวัน เพื่อให้มีปัสสาวะมากๆเพื่อที่น้ำจะช่วยพัดพาเศษนิ่วที่แตกแล้วให้หลุดออกมาได้เร็วขึ้น
? ถ้ามีอาการปวดมาก ไข้สูง ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะไม่ออก ควรรีบกลับไปพบแพทย์หรือไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
? หลังการรักษา และร่างกายเป็นปกติดีควรออกกำลังกายเป็นประจำ และสังเกตว่ามีเศษนิ่วหลุดออกมาพร้อมปัสสาวะบ้างหรือไม่
ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการรักษา
? ขนาดของนิ่ว: ถ้านิ่วขนาดใหญ่เกิน 2 ซม.หรือมีหลายก้อน ทำให้ต้องทำซ้ำหลายๆครั้งการรักษาจึงจะประสบผลสำเร็จ
? ความแข็งของนิ่ว: ถ้านิ่วมีองค์ประกอบที่แข็งมากอาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง และต้องใช้พลังงานระดับสูงขึ้น บางครั้งผู้ป่วยอาจทนเจ็บไม่ได้ ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี
? การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป้วยตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล
? ความผิดปกติทางกายวิภาคของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดนิ่วในไต ท่อไต อาจทำให้นิ่วที่แตกแล้วไม่สามารถหลุดออกมาได้ ซึ่งแพทย์ก็จำเป็นต้องหยุดการสลายนิ่ว