งานวิจัยนี้เป็นการศึกษา อุบัติการณ์ และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดการบาดเจ็บของท่อไตหลังการผ่าตัดในอุ้มเชิงกราน รวมถึงความสัมพันธ์ของการบาดเจ็บของท่อไตกับการใส่สายระบายในท่อไต (Ureteric catheterization) ก่อนผ่าตัดในอุ้มเชิงกราน
การศึกษานี้เป็นการเก็บข้อมูล ย้อนหลังตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2015 ถึงเดือน ธันวาคม 2018 ใน รพ.ราชวิถี โดยศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 130 คน ที่ได้รับการผ่าตัดในอุ้มเชิงกราน และได้รับการใส่สายระบายในท่อไตก่อนผ่าตัด และบันทึกประวัติข้อมูลที่สำคัญคือ อายุ ประวัติการผ่าตัดในอุ้มเชิงกรานก่อนหน้านี้ ประวัติการฉายรังสี การมีภาวะไตบวมน้ำ (hydronephrosis) ระยะของโรคในกรณีที่เป็นโรคมะเร็ง รวมถึงการบาดเจ็บของท่อไต และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆหลังผ่าตัด
ผลการศึกษาพบว่า อุบัติการณ์ของการเกิดการบาดเจ็บของท่อไตเท่ากับ 4.6% ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่ามีผลต่อการเกิดการบาดเจ็บของท่อไตอย่างมีนัยสำคัญ คือ การที่มีตำแหน่งของก้อนเนื้องอกที่อยู่ที่รังไข่ สายระบายในท่อไตจะถูกใส่ไว้โดยเฉลี่ย 20.95 นาที ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆจากการใส่สายระบายในท่อไตคือ ปัสสาวะเป็นเลือด (16.2%) และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (14.6%) ซึ่งภาวะปัสสาวะเลือดส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง
จากงานวิจัยนี้ จะเห็นได้ว่า การเกิดการบาดเจ็บของท่อไตหลังการผ่าตัด มักพบในการผ่าตัดมะเร็งรังไข่ อย่างมีนัยสำคัญ และการใส่สายระบายในท่อไตก่อนการผ่าตัดพบว่าอาจไม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดการบาดเจ็บนี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงควรระมัดระวังในผู้ป่วยสูงอายุ
แปลและเรียบเรียงโดย นพ.ดลลชา วาณิชย์การ
https://he02.tci-thaijo.org/?/article/view/247856/168356
