?สุดยอดของความคิด คือเอาลูกคิดมารัดขั้วไต!!!?

เรื่องก่อนใหม่ ไทยยูโร
?สุดยอดของความคิด คือเอาลูกคิดมารัดขั้วไต!!!?


ความรู้ทางยูโรส่วนใหญ่ก็เหมือนความรู้ทางการแพทย์สาขาอื่นๆ คือเอามาจากฝรั่งเกือบทุกอย่าง ทั้งตำรับตำรา แนวทางการรักษา และเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยและผ่าตัดรักษา เครื่องมือต่างๆ จึงมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ หรือเป็นชื่อหมอฝรั่งที่คิดค้นเป็นคนแรกนั่นเอง อย่างไรก็ตามเครื่องมือฝรั่งบางชิ้นอาจไม่เหมาะกับคนไทย เช่น มีขนาดใหญ่เกินไป หรือ มีราคาค่อนข้างแพงเมื่อแปลงเป็นเงินบาท
การผ่าตัดเอานิ่วออกจากไต (Nephrolithotomy) เป็นการผ่าตัดที่ต้องผ่าตัดเข้าเนื้อไต การผ่าตัดนี้มีโอกาสเสียเลือดได้มาก เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงมากมาย จึงจำเป็นต้องทำการรัดหลอดเลือดแดงไต (Renal artery) เสียก่อน แต่หากไม่สามารถแยกหลอดเลือดแดงไต และหลอดเลือดดำไต (Renal vein) ออกจากกันได้ ก็ให้รัดขั้วไต (Renal pedicle) หรือใช้แถบรัดสายสะดือ (Umbilical tape) โอบรอบขั้วไต แล้วใช้ท่อยางแข็งกดรัดขั้วไต น่าสนใจว่าในปี พ.ศ. 2511 อาจารย์วรวัฒน์ และคณะได้เสนอรายงานการทดลองใช้ ?ลูกคิด? (Calculator ball) กดรัดที่ขั้วไต พบว่าสามารถห้ามเลือดได้ดีถึงแม้ว่าขั้วไตจะมีขนาดใหญ่และหนา เมื่อรัดขั้วไตแล้วจึงทำการผ่าตัดเนื้อไตลงไป ต่อมาจึงรู้จักแพร่หลายในชื่อของ ?ลูกประคำ? (Bead) จากนวัตกรรมแรกๆ ของอาจารย์จึงเป็นการจุดประกายให้หมอยูโรรุ่นหลังๆ ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานออกมาอีกมากมาย
ปัจจุบัน อาจารย์วรวัฒน์ ท่านอายุ 87 ปี สุขภาพแข็งแรงดี มีสมญานามจากลูกศิษย์ว่าเป็น ?ปรมาจารย์แห่งยูโรภาคเหนือของไทย? (The God Father of Northern Thai Urology) เนื่องจากท่านเป็นหมอยูโรคนแรกของภาคเหนือ หลังจากเทรนจบยูโรรุ่นแรกจากรพ.ศิริราชในปี พ.ศ. 2504 ท่านก็ได้เดินทาง (ว่ากันว่าท่านขี่ช้างมา) มาสมัครเป็นอาจารย์ยูโรคนแรกของภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม. เชียงใหม่ ท่านมีผลงานวิจัยมากมาย โดยเฉพาะในแนวของนวัตกรรม ท่านเป็นอดีตหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ อดีตสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งชมรมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ (มีด้วยกัน 25 ท่าน) และที่สำคัญ ปัจจุบันท่านยังคงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้มีอวุโสสูงสุดของสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ การผ่าตัดนิ่วไตส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปที่ไต (Percutaneous nephrolithotomy; PCNL) ซึ่งมีแผลเล็ก เสียเลือดน้อย ไม่ค่อยเจ็บแผล และฟื้นตัวไว โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีการรัดขั้วไตเหมือนในอดีต ลูกคิดที่มาจากความคิดริเริ่มของอาจารย์วรวัฒน์จึงเริ่มทยอยเดินทางเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ยังคงคิดถึงและรอคอยเวลาออกมาช่วยเหลือหมอยูโรรุ่นใหม่ในยามที่จังหวะคับขันมาเยี่ยมเยือน!


ที่มา: ศ.(เกียรติคุณ) นพ.วรวัฒน์ ชุมสาย ณ อยุธยา หนังสือศัลยศาสตร์วิวัฒน์ 3/2525
นำเสนอ: รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์

Stay Connected

Popular Knowledge

เข้าสู่ระบบ


ลงทะเบียน

(เฉพาะสมาชิก TUA เท่านั้น)

กรุณากรอกข้อมูลด้านล่าง

กู้คืนรหัสผ่านของคุณ

กรุณาระบุอีเมลของคุณ